วันพุธที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ศ. ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ ภาคีสมาชิก บรรยายเรื่อง การผลิตถ่านไฮโดรจากสิ่งปฏิกูลโดยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอนไนเซชัน สรุปความได้ว่า สิ่งปฏิกูลเป็นของเสียที่มีค่ามลพิษสูง ประกอบด้วย สารอินทรีย์ และเชื้อโรค ปัจจุบันสิ่งปฏิกูลที่เทศบาลต่างๆในประเทศไทยเก็บจากอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งในหลุมฝังกลบ พื้นที่การเกษตร และแหล่งน้ำ ซึ่งก่อให้ปัญหาที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ประมาณร้อยละ ๓๐ ของสิ่งปฏิกูลถูกบำบัดโดยการหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน และลานตากตะกอน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอนไนเซชัน (Hydrothermal carbonization) เป็นกระบวนการทางเคมีความร้อน (Thermo-chemical process) ที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารชีวะมวล (Biomass) ที่มีความชื้นสูงให้กลายเป็นสารประกอบคาร์บอนที่เรียกว่า ถ่านไฮโดร (Hydrochar) โดยใช้เครื่องปฏิกรณ์แรงดันสูง (๒๐-๖๐ บาร์) ที่อุณหภูมิปานกลาง (๑๘๐-๒๕๐ องศาเซลเซียส) วิธีการนี้สามารถนำมาใช้กับสารชีวะมวลได้หลากหลายประเภทซึ่งรวมถึงสิ่งปฏิกูลด้วย นอกจากนี้ ถ่านไฮโดรที่ผลิตได้ยังสามารถนำมาใช้งานในด้านๆ ทั้งในกระบวนการผลิต การเกษตร และอุตสาหกรรมเคมี เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิง ตัวเก็บพลังงาน ปรับปรุงคุณภาพดิน ตัวดูดซับในการกรองน้ำ และตัวเร่งปฏิกิริยา

จากผลการทดลองผลิตถ่านไฮโดรจากสิ่งปฏิกูลโดยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอนไนเซชัน ที่อุณหภูมิ ๒๕๐ องศาเซลเซียส เป็นเวลา ๕ ชั่วโมง พบว่าอัตราผลผลิตของถ่านไฮโดรประมาณร้อยละ ๗๐-๗๕ ของสิ่งปฏิกูลแห้ง และปริมาณพลังงานความร้อนของถ่านไฮโดรประมาณ ๑๙-๒๐ เมกะจูลต่อกิโลกรัม ซึ่งมีค่าใกล้เคียงกับถ่านหินธรรมชาติ เช่น ลิกไนต์ ดังนั้นถ่านไฮโดรที่ผลิตได้จึงสามาถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการเผาไหม้ทั่วไปได้ จากกรณีศึกษาโรงบำบัดสิ่งปฏิกูลของเทศบาลนครนนทบุรี พบว่า สิ่งปฏิกูลประมาณ ๙,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อปี ถูกบำบัดโดยถังหมักและลานตากตะกอนสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ ๗๒ ตันต่อปี สร้างรายได้ให้กับเทศบาลนครนนทบุรี ประมาณ ๒๑๖,๐๐๐ บาทต่อปี ในขณะที่ เมื่อพิจารณามาใช้การบำบัดโดยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอนไนเซชั่น พบว่า สามารถผลิตถ่านไฮโดรได้ประมาณ ๓๓๗ ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาทต่อปี ดังนั้น ไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอนไนเซชั่นจึงเป็นกระบวนที่เหมาะสมและควรนำมาพิจารณาในการใช้บำบัดสิ่งปฏิกูลและผลิตถ่านไฮโดรให้มีมูลค่าสูง

ศ. ดร.สมศักดิ์ ดำรงค์เลิศ ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง การผลิตท่อนาโนคาร์บอนในฟลูอิไดซ์เบดบนตัวเร่งโคบอล สรุปความได้ว่า ท่อนาโนคาร์บอนถูกผลิตในคอลัมน์สร้างด้วยสแตนเลส ๓๐๔ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕๐ มิลลิเมตร สูง ๑,๐๐๐ มิลลิเมตร ใช้โคบอลเป็นตัวเร่งปฎิกิริยาเคลือบบนอะลูมินามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย ๘๑.๔ ไมโครเมตร เป็นโคบอลที่ว่องไวปริมาณร้อยละ ๓.๓  โดยน้ำหนักซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖.๑ นาโนเมตร ใช้วิธีทำตัวเร่งปฏิกิริยาให้ว่องไวโดยการอบด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ ๔๕๐ องศาเซลเซียสในบรรยากาศของแก๊สไฮโดรเจน จากนั้นป้อนแก๊สผสมด้วยอัตราการป้อนปริมาณแก๊สเอทีลีนต่อไฮโดรเจนต่อไนโตรเจนเท่ากับ ๔๐๐:๒๐๐:๒๐๐ ลูกบาศก์เซ็นติเมตรต่อนาทีเข้ามาทางด้านล่างของคอลัมน์ทำให้เม็ดตัวเร่งจะอยู่ในสภาวะฟลูอิไดเซชัน สภาวะที่เหมาะสมสำหรับเบดที่มีตัวเร่งปฏิกิริยานี้ ต้องใช้อุณหภูมิในเบด ๖๐๐ องศาเซลเซียส เวลาดำเนินงาน ๖๐ นาที สัดส่วนความเข้มข้นของแก๊สเอทีลีน ๐.๕๐ สามารถผลิตท่อนาโนคาร์บอนได้ร้อยละ ๕๘.๖

  วันพุธที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐

ศ. ดร.สมชาติ  โสภณรณฤทธิ์  ราชบัณฑิต บรรยายเรื่อง เส้นทางการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม สรุปความได้ว่า บทความนี้กล่าวถึงแนวทางการจัดการเส้นทางการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม  สำหรับกลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่ก็อาจใช้กับกลุ่มสาขาวิชาอื่นได้ อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในปัจจัยทั้งหมดที่มีอยู่ห้าปัจจัย   อาจารย์มีหน้าที่หลักสองประการ คือ สอนและวิจัย  ผลงานวิจัยที่ดีจะต้องมีศักยภาพที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ  และต้องสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในแหล่งตีพิมพ์คุณภาพสูง   แนวทางการทำงานวิจัยที่ดีต้องมีความเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัย/กลุ่มวิจัยกับผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีการพบปะหารือร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ มีกิจกรรมการวิจัยต่างๆ ที่เหมาะสม ที่ขับเคลื่อนบนฐานของความรู้สึกของความเป็นหุ้นส่วนการวิจัยของบุคคลากรในกลุ่มวิจัย เพื่อให้งานวิจัยของประเทศมีความก้าวหน้า  อาจารย์  ผู้บริหาร  สภาสถาบันอุดมศึกษา   สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา  และหน่วยงานให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ ครบถ้วน เหมาะสมที่สุด

ศ. ดร.ปรีดา  วิบูลย์สวัสดิ์ ราชบัณฑิต, ศ. ดร.สวัสดิ์  ตันตระรัตน์  ราชบัณฑิต    และ ศ. ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ ราชบัณฑิต  ร่วมบรรยายเรื่อง ความชรา ความจำเสื่อม กับ ดนตรี สรุปความได้ดังนี้

ระเบียบของราชบัณฑิตสภา

  • ราชบัณฑิตผู้สูงวัยอาจลาเกษียณเพราะความชราได้
  • เงื่อนไขของ ความชรา ยังมิได้กำหนดให้ชัดเจน.
  • การใช้อายุและการตีความทางด้านกฎหมายเป็นเกณฑ์
  • ควรจะพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆด้วย เช่น ความจำ  สุขภาพอื่นๆ
  • ต้องอาศัยความเห็นทางการแพทย์ประกอบด้วย

ความจำเสื่อมของผู้สูงวัย

  • เมื่อมีอายุมากขึ้น ความจะจำเสื่อมขึ้น
  • ความจำที่เสื่อมมาก จะเป็นอาการของอัลไซเมอร์ขั้นแรกหรือไม่
  • สมาชิกในครอบครัว ป่วยด้วยอัลไซเมอร์ ความเสี่ยงก็น่าจะมากขึ้น
  • บุคลากรทั่วไปไม่อาจแยกแยะระหว่าง ความจำเสื่อมมาก กับอัลไซเมอร์ขั้นแรก
  • บุคคลที่อยู่ใกล้ตัวผู้สูงวัย อาจจะสังเกตแนวโน้มในการเป็นอัลไซเมอร์ได้
  • รายงานการสังเกตให้แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัย.

วิธีชะลอความจำเสื่อม

  • การออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
  • การออกไปพบปะกับสิ่งใหม่ๆ
  • การทำกิจกรรมที่มีเป้าหมาย
  • การเล่นดนตรี
  • ฯลฯ

การเล่นดนตรี

  • ดนตรีที่มีจังหวะช้า ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดัน  และอุณหภูมิของร่างกาย
  • ดนตรีที่มีความถี่ระหว่าง 90-120 Hertz ทำให้สมองทำงานคล้ายกับการนั่งสมาธิ
  • ในบ้านผู้สูงวัยบางแห่ง ผู้สูงวัยที่เล่นดนตรี สามารถฟื้นความจำได้บ้าง
  • ยังไม่มีทฤษฏี อธิบาย ความเกี่ยวข้องของการชะลอความจำเสื่อม กับ เสียงดนตรีที่มีความถี่ต่ำ

ข้อเสนอแนะ

  • ผู้สูงอายุบางคน อาจมีปัญหาทีไม่อาจออกกำลังเพื่อชะลอความจำเสื่อม
  • การเล่นดนตรี เป็นทางเลือกที่ดีประการหนึ่ง.
  • ผู้สูงวัยน่าจะหัดเล่นดนตรีบางชนิด เพื่อชะลอความจำเสื่อม เช่น ขลุ่ย
  • เครื่องดนตรีอีกอย่างหนึ่งที่หัดง่าย และราคาไม่แพง คือ ukulele หรือ uke
  • Uke คล้ายกีตาร์ แต่มีเพียงสี่สาย ที่ตามปกติ ประกอบด้วยสาย high G, C, E และ high G
  • ควรเปลี่ยนสาย high G เส้นบนเป็นสาย low G ให้ได้เสียงต่ำพอ.

ตัวอย่าง เพลงคลาสสิก ที่มีจังหวะช้า

  • Schubert: AVE Maria, Seranade, etc.
  • Bach: Air on G string, Ave Maria, etc
  • Londondery air, Shenandoah
  • เพลงไทยเดิม เช่น ลาวคำหอม แขกสาหร่าย บังใบ.
  • เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเทียน ถ้าเล่นด้วย low G ให้เสียงต่ำลง และเล่นให้ช้าลง