ศาสตราจารย์สัญชัย  สุวังบุตร

ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาประวัติศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ยุโรป

 เสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก

สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา

วันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐

๑๐๐ ปี การปฏิวัติรัสเซีย (๑๙๑๗–๒๐๑๗)

              ปีนี้ (๒๐๑๗) ครบรอบ ๑๐๐ ปีของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ยุโรปและโลก การปฏิวัติเริ่มจากการชุมนุมเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ ๑ และเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาความอดหยากขาดแคลนอาหารซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ เป็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่มีใครคาดการณ์มาก่อน และสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะทางการเมืองของประชาชนและการอวสานของราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองจักรวรรดิรัสเซียมากว่า ๓๐๐ ปี รัสเซียก้าวสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในสมัยทวิอำนาจระหว่างสภาโซเวียตกับรัฐบาลเฉพาะกาล ท้ายที่สุดสภาโซเวียตแย่งชิงอำนาจทางการเมืองได้และนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ในเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “๑๐ วัน เขย่าโลก” พรรคบอลเชวิคที่มีวลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) กับเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky) เป็นผู้นำยึดอำนาจทางการเมืองได้สถาปนารัฐสังคมนิยมของชนชั้นแรงงานขึ้นได้เป็นครั้งแรก การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ ๑๙๑๗ จึงนำไปสู่การเริ่มต้นการก่อตัวของสหภาพโซเวียตซึ่งส่งอิทธิพลต่อการเมือง ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ทั้งฝากรอยจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เป็นการยึดอำนาจทางการเมืองของพรรคบอลเชวิคในรัสเซีย รัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งปกครองประเทศภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ ถูกโค่นอำนาจ และ
อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky) นายกรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกาลสามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้ และพยายามรวบรวมกำลังทั้งภายในและนอกประเทศที่เรียกกันว่ากองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวเพื่อโค่นล้มรัฐบาลโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นแต่ก็ประสบกับความล้มเหลว การปฏิวัติเดือนตุลาคมมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาว่า “การปฏิวัติสังคมนิยมเดือนตุลาคมอันยิ่งใหญ่” (Great October Socialist Revolution) ผลสำคัญของการปฏิวัติครั้งนี้คือรัสเซียสามารถถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑  ได้สำเร็จด้วยการทำสนธิสัญญาเบรส–ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest–Litvosk) กับเยอรมนีในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ และเปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นระบอบสังคมนิยม  พรรคบอลเชวิคซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค) [The Russian Communist Party (Bolshevik)] กลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีอำนาจเด็ดขาดพยายามสร้างสังคมใหม่ที่ปราศจากชนชั้นตามอุดมการณ์ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx) ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมใหม่ของมวลชนผู้ใช้แรงงาน

การปฏิวัติเดือนตุลาคมเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจที่สะสมมายาวนานในสมัยซาร์ และนำไปสู่การก่อตัวของขบวนการปฏิวัติในทศวรรษ ๑๙๐๐ เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม ความอื้อฉาวในราชสำนักจากพฤติกรรมของนักบวชรัสปูตินที่ซาร์และ
ซาร์รีนาทรงไว้วางพระทัย และสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้ทำให้บาดแผลที่เรื้อรังของรัสเซียแตกและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมที่ทำให้ระบอบอัตตาธิปไตยล่มสลายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗  ความอ่อนแอของรัฐบาลเฉพาะกาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศ และการกลับเข้ารัสเซียของแกนนำกลุ่มนักปฏิวัติในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ทำให้สภาโซเวียตซึ่งเป็นองค์การทางการเมืองของกรรมกรที่ปกครองประกาศร่วมกับรัฐบาลเฉพาะกาลในช่วงการปกครองแบบทวิอำนาจ (Dual Power) ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ มีบทบาททางการเมืองมากขึ้นตามลำดับ  คำขวัญ “คืนอำนาจรัฐทั้งหมดแก่สภาโซเวียต” เริ่มเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ปัญหาความขัดแย้งทางทหารในกองทัพในการปราบปรามฝ่ายปฏิวัติทำให้เคเรนสกีผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาลกล่าวหานายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov) ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของเขาว่าก่อกบฏ

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของรัฐบาลเฉพาะกาลในการปราบปรามกบฏคอร์นีลอฟ หรือเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair) ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ได้เปิดโอกาสให้พรรคบอลเชวิคและสภาโซเวียตมีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมมวลชนและทหารให้จับอาวุธต่อต้านกองกำลังของนายพล คอร์นีลอฟที่เคลื่อนกำลังบุกเข้ายึดครองกรุงเปโตรกราด ตลอดจนจัดตั้งแนวรบปิดกั้นเส้นทางคมนาคมและการติดต่อสื่อสารต่าง ๆ ที่พวกกบฎจะใช้  นักปลุกระดมบอลเชวิคจำนวนหนึ่งยังเกลี้ยกล่อมให้กองกำลังต่าง ๆ ของคอร์นีลอฟวางอาวุธและเข้าร่วมสนับสนุนประชาชนจนท้ายที่สุดฝ่ายกบฏยอมจำนนโดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ  หลังเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ พรรคบอลเชวิคมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นในสภาโซเวียตตามเมืองต่าง ๆ และเริ่มเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลเฉพาะกาล และเรียกร้องการคืนอำนาจรัฐทั้งหมดให้แก่สภาโซเวียต แม้รัฐบาลเฉพาะกาลจะปรับคณะรัฐมนตรีและยังคงรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ได้ แต่ปัญหาหนี้สินจากการดำเนินนโยบายสงคราม ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและสภาพการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงทุกขณะ ก็ทำให้การต่อต้านรัฐบาลเริ่มเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ

ในช่วงที่กระแสการต่อต้านรัฐบาลเฉพาะกาลกำลังก่อตัวขึ้นและขยายตัวในวงกว้าง สภาโซเวียตก็เริ่มเคลื่อนไหวเตรียมยึดอำนาจ ตรอตสกีซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาโซเวียตเปโตรกราดดำเนินนโยบายให้สภาโซเวียตเป็นองค์การนำในการเข้าควบคุมสภาโซเวียตท้องถิ่นทั่วประเทศให้กลายเป็นองค์การพรรคและเรียกร้องให้โอนอำนาจของรัฐบาลแก่สภาโซเวียต ในขณะเดียวกันเลนินซึ่งลี้ภัยที่ฟินแลนด์ก็ส่งสารถึงคณะกรรมาธิการกลางบอลเชวิคในหัวข้อ “The Bolsheviks Must Take Power” และ “The Crisis Has Ripened” เรียกร้องให้โค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล แต่คณะกรรมาธิการกลางพรรคไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของเลนิน และขอให้เลนินเดินทางกลับมากรุงเปโตรกราดเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการยึดอำนาจ

รัฐบาลเฉพาะกาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองด้วยการจัดประชุมประชาธิปไตย (Democratic Conference) ขึ้นที่กรุงเปโตรกราดในกลางเดือนกันยายนเพื่อผนึกกำลังกลุ่มเสรีนิยมให้สนับสนุนรัฐบาล ผลสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการที่จะต้องเตรียมจัดตั้งรัฐสภา (Pre-Parliament) ไว้ก่อนเพื่อจะได้เตรียมการเลือกตั้งได้ซึ่งกำหนดเป็นวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน และการเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ศูนย์กลางบอลเชวิคมีมติให้คว่ำบาตรรัฐสภาที่เตรียมไว้และให้สมาชิกที่สนับสนุนรัฐสภาถอนตัวออกด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือขัดขวางการปฏิวัติโดยโน้มน้าวให้ฝ่ายต่าง ๆ สนับสนุนระบอบรัฐสภาของชนชั้นนายทุน บอลเชวิคยังเคลื่อนไหวด้วยการให้เปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ (Second All-Russian Congress of Soviets) ขึ้น แม้พรรคสังคมนิยมอื่น ๆ รวมทั้งสภาโซเวียตท้องถิ่นและหน่วยทหารของสภาโซเวียตจะไม่เห็นด้วยกับการเปิดประชุมใหญ่ดังกล่าวเพราะเห็นว่าเงื่อนไขเวลายังไม่เหมาะสมและจะเป็นการทอนอำนาจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่สภาโซเวียตเปโตรกราดและสภาโซเวียตมอสโกซึ่งบอลเชวิคกุมเสียงส่วนใหญ่ไว้ได้ก็สามารถกดดันให้มีการจัดประชุมสภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ ขึ้นได้สำเร็จโดยกำหนดเปิดประชุมในวันที่ ๒๐ ตุลาคม และกำหนดวัตถุประสงค์ไว้คือ การจะร่างกฎหมายการเลือกตั้งเพื่อเสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาก็มีมติให้เลื่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ออกไปอีก ๕ วัน เป็นวันที่ ๒๕ ตุลาคมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนสภาโซเวียตจากหัวเมืองมีเวลาเตรียมตัวและเดินทางมากรุงเปรโตรกราดได้ทันเวลา

ในต้นเดือนตุลาคม รัสเซียถอนกำลังออกจากเมืองเรเวล (Revel) ซึ่งเป็นหน้าด่านอันแข็งแกร่งสุดท้ายที่กั้นขวางระหว่างกรุงเปโตรกราดกับกองกำลังของเยอรมนี การถอนกำลังดังกล่าวสร้างความหวาดวิตกขึ้นทั่วไป เพราะหากเยอรมนีรุกคืบหน้า กรุงเปโตรกราดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิ เคเรนสกีจึงตัดสินใจจะย้ายรัฐบาลไปที่นครมอสโก ตรอตสกีโจมตีรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างรุนแรงที่จะสละนครแห่งการปฏิวัติให้แก่เยอรมนี เขาปลุกระดมและโน้มน้าวกองกำลังทหารในเปโตรกราดให้ต่อสู้ป้องกันกรุงเปโตรกราด และให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหาร (Military Revolutionary Committee) ขึ้น เพื่อประสานงานกับกองกำลังทหารหน่วยต่าง ๆ ในการป้องกันกรุงเปโตรกราดจากการโจมตีทั้งของเยอรมนีและฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ ขณะเดียวกันเขาให้ติดอาวุธแก่กองทหารเรดการ์ดของสภาโซเวียตด้วย กองทหารดังกล่าวในช่วงกบฏ
คอร์นีลอฟได้รับอาวุธและกระสุนจากรัฐบาล แต่ภายหลังการกบฏสิ้นสุดลงไม่ได้ส่งกระสุนและอาวุธส่วนใหญ่คืนแก่รัฐบาล  การจัดตั้งคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารเพื่อให้ประสานงานและควบคุมกองกำลังหน่วยต่าง ๆ ในกรุงเปโตรกราดจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบอลเชวิคตระเตรียมกำลังลุกขึ้นสู้ได้สะดวกขึ้น

ระหว่างวันที่ ๓–๑๐ ตุลาคมซึ่งไม่ทราบวันที่ชัดเจนนั้น เลนินได้แอบกลับจากฟินแลนด์มาถึงกรุง
เปโตรกราดอย่างลับ ๆ และพักซ่อนในย่านคนงานเขตวีบอร์ก เขายืนกรานให้มีการลุกฮือด้วยกำลังอาวุธเพื่อยึดอำนาจรัฐก่อนวันเปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียครั้งที่ ๒ และกำหนดให้คณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเปโตรกราดและประกาศโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม แกนกลางพรรคบอลเชวิครวม ๑๒ คน เปิดประชุมลับครั้งสำคัญเพื่อตัดสินเรื่องการยึดอำนาจโดยมี
เลนินเข้าร่วมประชุมด้วย เลนินต้องการให้ยึดอำนาจในนามของพรรคบอลเชวิคทันที แต่ตรอตสกีคัดค้านและเสนอให้ยึดอำนาจในนามของสภาโซเวียตเพราะสภาโซเวียตเป็นศูนย์รวมทางการเมืองที่กรรมกรผูกพันและเรียนรู้เรื่องการปฏิวัติรวมทั้งรู้จักพรรคบอลเชวิคผ่านสภาโซเวียต การยึดอำนาจที่ไม่ได้ทำในนามสภา
โซเวียตจะสร้างความสับสน นอกจากนี้บอลเชวิคยังชูคำขวัญ “คืนอำนาจรัฐทั้งหมดแก่สภาโซเวียต” เพราะว่าการยึดอำนาจในนามของสภาโซเวียตจะทำให้การปฏิวัติมีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

ที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องกำหนดวันที่จะยึดอำนาจด้วย เลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev) และกรีกอรี ชีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev) คัดค้านเรื่องการยึดอำนาจอย่างมากเพราะเห็นว่าช่วงเวลายังไม่เหมาะสมและบอลเชวิคยังไม่เข็มแข็งและมีความพร้อมพอ อย่างไรก็ตาม การประชุมในท้ายที่สุดก็มีมติให้ยึดอำนาจรัฐด้วยคะแนน ๑๐ : ๒ ส่วนวันยึดอำนาจยังไม่กำหนดแน่ชัด โดยอาจยึดอำนาจหนึ่งวันก่อนการเปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตสมัยที่ ๒ ซึ่งเป็นวันที่ ๒๕ ตุลาคมหรืออาจดำเนินการก่อน ที่ประชุมเห็นชอบให้ถ่ายทอดมติเรื่องการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธแก่องค์การพรรคในมอสโก และในท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศเพื่อให้ตระเตรียมการและเพื่อประสานงานการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นให้เป็นเอกภาพ นอกจากนี้ มีการจัดตั้งฝ่ายการเมือง (political bureau) ขึ้นด้วยซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ๗ คนที่รวมทั้งเลนิน ตรอตสกี และโจเซฟ
สตาลิน (Joseph Stalin) เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่องค์การพรรคว่าด้วยปัญหาการต่อสู้และยึดอำนาจ แต่ฝ่ายการเมืองดังกล่าวก็ไม่เคยประชุมกัน

ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม คณะกรรมการกลางพรรคบอลเชวิคจัดประชุมร่วมกับผู้แทนสภาโซเวียต
เปโตรกราด และผู้แทนคณะกรรมการกลางพรรคแห่งเปโตรกราด รวมทั้งผู้แทนหน่วยทหาร และโรงงาน
ต่าง ๆ ที่ประชุมมีมติยืนยันให้ลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธด้วยคะแนน ๒๐ : ๒ ซิโนเวียฟและคาเมเนฟคัดค้านอีกครั้งหนึ่งด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลเฉพาะกาลยังคงมีอำนาจเข้มแข็ง และเสนอให้ยึดอำนาจด้วยแนวทางสันติตามวิถีของระบอบรัฐสภา หากล้มเหลวจึงก่อการปฏิวัติ แต่ตรอตสกีและเลนินกลับเห็นว่าเงื่อนไขของการปฏิวัติตามแผนของพรรคบอลเชวิคสุกงอมและกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะยึดอำนาจ หากไม่ลงมือปฏิบัติการทันที มวลชนซึ่งสนับสนุนการปฏิวัติจะถอนตัวหรือวางเฉย และเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติโจมตีฝ่ายปฏิวัติจนพ่ายแพ้ ทั้งรัฐบาลอาจแยกทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนี รัสเซียก็จะยังคงเป็นประเทศกึ่งจักรวรรดินิยมและกึ่งอาณานิคมทุนนิยมต่อไป ตรอตสกียังเสนอให้ฝ่ายเรดการ์ดทำหน้าที่ปกป้องสภาโซเวียตด้วย

คาเมเนฟต่อต้านแผนการยึดอำนาจด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรค และในวันรุ่งขึ้นทั้งเขาและซีโนเวียฟทำจดหมายเปิดผนึกเปิดเผยแผนการยึดอำนาจเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ของแมกซิม กอร์กี (Maxim Gorky) นักเขียนเรืองนาม เลนินไม่พอใจอย่างมากและเรียกร้องให้ขับคนทั้งสองออกจากพรรค แต่คณะกรรมการกลางพรรคไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเลนิน  อย่างไรก็ตาม การแพร่งพรายเรื่องการเตรียมยึดอำนาจก็ทำให้เกิดความตื่นตัวกันทั่วไปในขบวนการปฏิวัติ และทุกคนมักถามกันเองว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้านการยึดอำนาจที่จะมีขึ้น

ข่าวที่ว่าบอลเชวิคจะยึดอำนาจสร้างบรรยากาศความตึงเครียดทั่วไปในสังคมและทำให้รัฐบาลเฉพาะกาลเริ่มวางมาตรการป้องกันขึ้น ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม เคเรนสกีมีคำสั่งให้ถอนกำลังจากแนวหน้ามาป้องกันกรุงเปโตรกราด และเริ่มควบคุมตรวจตราตามท้องถนนอย่างเข้มงวดตลอดจนจัดตั้งศูนย์บัญชาการหน่วยจู่โจมขึ้นตามเขตชุมชน เคเรนสกีคิดว่าเขาจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และเชื่อมั่นว่าการยึดอำนาจของบอลเชวิคจะเปิดโอกาสให้เขากวาดล้างฝ่ายบอลเชวิคจนสิ้นซาก ฝ่ายตรงข้ามบอลเชวิคก็มีความคิดเช่นเดียวกับเคเรนสกีและเห็นว่าหากพวกบอลเชวิคถูกกวาดล้างลง บอลเชวิคก็จะหมดบทบาทและอิทธิพลในสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลังวันที่ ๒๐ ตุลาคมเป็นต้นมา บรรยากาศความตึงเครียดครอบคลุมกรุงเปโตรกราดและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หัวข้อหลักของการสนทนาคือเรื่องการลุกฮือที่กำลังจะก่อตัวขึ้น หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ก็พยายามคาดการณ์ว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ในขณะที่สภาโซเวียตเปโตรกราดออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวเรื่องการยึดอำนาจ และกองทหารคอสแซค (Cossaks) ก็ประกาศจะใช้กำลังปราบปรามฝ่ายกบฏ

ตรอตสกีเตรียมการที่จะรับมือกับการโจมตีของฝ่ายต่อต้านปฏิวัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะด้วยการสั่งให้จ่ายปืนไรเฟิล ๕,๐๐๐ กระบอกแก่กองกำลังเรดการ์ดบอลเชวิค การติดอาวุธแก่ฝ่ายเรดการ์ดดังกล่าวสร้างความหวาดวิตกในหมู่ชนชั้นปกครองอย่างมาก ตรอตสกียังเรียกร้องให้กองทหารเปโตรกราดประสานงานและรับคำสั่งจากคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารแห่งเปโตรกราด ตลอดจนจัดประชุมทั่วไปขึ้นโดยโน้มน้าวและชี้นำเหล่าทหารให้มีมติเห็นชอบที่จะสนับสนุนสภาโซเวียตและโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล ในช่วงเวลาเดียวกันสภาโซเวียตก็เปิดประชุมทั่วเปโตรกราดเพื่อปลุกระดมมวลชนให้สนับสนุนการดำเนินงานของสภา
โซเวียตเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพ ที่ดิน และขนมปังรวมทั้งชัยชนะที่สมบูรณ์ของการปฏิวัติ ตรอตสกีเป็นผู้นำที่โดดเด่นในการปลุกระดมและจัดตั้งทางความคิดแก่มวลชน

 การยึดอำนาจ

ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม รัฐบาลเฉพาะกาลเริ่มปฏิบัติการโจมตีด้วยการตรวจค้นและเข้ายึดโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ Rabochy Put และ Soldatskaya Pravda ของบอลเชวิคเพื่อขัดขวางไม่ให้เผยแพร่ข่าวสาร และสั่งให้ยกสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำเนวาขึ้นเพื่อตัดการคมนาคมระหว่างเขตที่อยู่อาศัยของกรรมกรกับใจกลางเมือง รวมทั้งมีประกาศให้จับกุมแกนนำบอลเชวิคคนสำคัญโดยเฉพาะตรอตสกี แต่ปฏิบัติการของรัฐบาลประสบความล้มเหลวเพราะในช่วงบ่ายกองกำลังเรดการ์ดบอลเชวิคก็สามารถยึดโรงพิมพ์กลับคืนมาได้ และในเวลาไม่ถึงชั่วโมงหนังสือพิมพ์ Rabochy Put ของบอลเชวิคก็พิมพ์เผยแพร่ได้อีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันมีการชักสะพานที่ข้ามแม่น้ำเนวาลงและกองกำลังที่บุกตรวจค้นย่านเขตคนงานเพื่อจับกุมเลนินก็ถูกต่อต้าน ทหารและกลาสีเรือที่รวมกำลังที่สถาบันสมอลนืย (Smolny Institute) ซึ่งเดิมเป็นวิทยาลัยสตรีชั้นสูงแต่ใช้เป็นที่ทำการสภาโซเวียตก็เคลื่อนกำลังเข้ายึดครองจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงเปโตรกราด ในช่วงเย็นก็สามารถยึดที่ทำการโทรเลขกลาง ไปรษณีย์ และโทรศัพท์ได้ตามลำดับ ในตอนค่ำของวันที่ ๒๔ ตุลาคม เลนินเขียนจดหมายถึงคณะกรรมการกลางพรรคเรียกร้องให้เร่งปฏิบัติการยึดอำนาจอย่างฉับไวและเด็ดขาด ในคืนนั้นกรรมกรกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าจากเขตวีบอร์กพากันมาที่คณะกรรมการประจำเขตเพื่อรับอาวุธและคำสั่ง ตลอดคืนวันที่ ๒๔ ตุลาคม กองกำลังทหารปฏิวัติและกองกำลังเรดการ์ดเคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญ ๆ และเข้าปิดล้อมพระราชวังฤดูหนาวซึ่งเป็นที่ทำการของรัฐบาลเฉพาะกาล เวลาประมาณ ๓.๓๐ น. เรือลาดตระเวน
ออโรรา (Aurora) ซึ่งกลาสีส่วนใหญ่สนับสนุนบอลเชวิคก็แล่นไปเทียบท่าตรงข้ามพระราชวังฤดูหนาว

ในเช้าวันที่ ๒๕ ตุลาคม กองกำลังฝ่ายปฏิวัติก็ยึดครองกรุงเปโตรกราดไว้ได้เกือบหมดยกเว้นจตุรัสกลางเพียงสองแห่งเท่านั้น รัฐบาลเฉพาะกาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ อย่างเด็ดขาดเพราะประเมินสถานการณ์ของฝ่ายปฏิวัติไว้ต่ำ ทั้งคาดหวังว่ากองกำลังจากแนวหน้าจะเคลื่อนกำลังมาทันที แต่กองกำลังจากแนวหน้าไม่สามารถมาถึงกรุงเปโตรกราดได้เพราะเส้นทางรถไฟถูกตัดขาด นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นในตนเองของเคเรนสกีที่คิดว่าเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ยังทำให้เขาไม่ใช้กำลังทหารที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลปราบปรามฝ่ายปฏิวัติทันทีเพราะเคเรนสกีคาดหวังว่าจะมีการเปิดการเจรจาเพื่อความตกลงทางการเมืองซึ่งจะทำให้เขามีบทบาทโดดเด่นขึ้น ฝ่ายปฏิวัติจึงมีเวลาปฏิบัติการโดยมีการต่อต้านไม่มากนัก กรุงเปโตรกราดจึงตกอยู่ในมือของฝ่ายปฏิวัติอย่างง่ายดาย เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารก็ออกแถลงการณ์ถึงพลเมืองรัสเซีย (To the Citizens of Russia) เผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งความตอนหนึ่งว่ารัฐบาลเฉพาะกาลได้ถูกโค่นลง และอำนาจรัฐได้ตกเป็นขององค์การสภาโซเวียตของผู้แทนกรรมกรและทหารแห่ง
เปโตรกราด และคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารแล้ว สิ่งที่ประชาชนต่อสู้เพื่อให้ได้มาล้วนได้รับการประกันที่แน่นอนแล้ว ในช่วงเวลาที่แถลงการณ์ดังกล่าวถูกส่งไปเผยแพร่ไปทั่วประเทศนั้น เคเรนสกีสามารถหลบหนีออกจากกรุงเปโตรกราดไปยังนครมอสโกได้อย่างหวุดหวิดโดยปลอมตัวเป็นทหารเซอร์เบียและต่อมาก็ลี้ภัยออกนอกประเทศ

เวลา ๑๔.๒๓ น. สภาโซเวียตเปโตรกราดจัดประชุมฉุกเฉินขึ้นและให้การต้อนรับเลนินและแกนนำบอลเชวิคที่มาถึงอย่างเอิกเกริก เลนินกล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมซึ่งมีความตอนหนึ่งว่าการปฏิวัติของกรรมกรและชาวนาซึ่งบอลเชวิคได้กล่าวเสมอถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นได้นั้นประสบผลสำเร็จแล้ว จากนั้นเลนินได้กล่าวถึงยุคใหม่ของประวัติศาสตร์รัสเซียที่รัฐบาลโซเวียตมีภารกิจและพันธกิจที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง นั่นคือการจัดตั้งอำนาจรัฐใหม่และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพ ในช่วง ๒๑.๐๐ น. ปืนของเรือลาดตระเวนออโรรากับป้อมเปโตรปาฟลอฟสกายาก็เริ่มยิงเป็นสัญญาณให้บุกเข้ายึดพระราชวังฤดูหนาว ในตอนดึกของคืนวันที่ ๒๕ ตุลาคม ที่ประชุมใหญ่ผู้แทนโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ ได้เปิดประชุมใหญ่ขึ้นที่สมอนนืยเมื่อเวลา ๒๒.๔๕ น.  ประมาณ ๐๓.๑๐ น. ที่ประชุมได้รับแจ้งว่าพระราชวังฤดูหนาวซึ่งคณะรัฐบาลเฉพาะกาลหลบซ่อนตัวโดยมีนักเรียนนายทหารและกองทัพทหารหญิงคอยคุ้มกันก็ถูกยึด บรรดารัฐมนตรีต่างถูกจับ ทั้งนักเรียนนายทหารกับกองทหารที่คอยคุ้มกันถูกปลดอาวุธ การปฏิวัติเดือนตุลาคมประสบชัยชนะอย่างงดงาม และเปิดโอกาสให้เลนินได้วางแนวทางของอนาคตให้แก่รัสเซียและสร้างสังคมใหม่ที่เขาใฝ่ฝันตามอุดมการณ์ลัทธิมากซ์คือการสถาปนาอำนาจรัฐสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพและปกครองในระบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ

ชัยชนะของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ทำให้รัสเซียเป็นต้นแบบประเทศสังคมนิยมประเทศแรกของยุโรปและโลก ทั้งเป็นประเทศแม่แบบของการปฏิวัติที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ปัญญาชนปฏิวัติและประชาชาติต่าง ๆ ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นแบบรัสเซีย การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ส่งผลสำคัญต่อยุโรปตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และทำให้แนวความคิดลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ (Proletariat Internationalism) เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เริ่มท้าทายและคุกคามอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งกลายเป็นพื้นฐานของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยสงครามเย็น (Cold War ค.ศ. ๑๙๔๕–๑๙๙๑) การปฏิวัติเดือนตุลาคมจึงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์รัสเซียและยุโรป ทั้งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์โลกด้วย

 การตีความประวัติศาสตร์การปฏิวัติ

             ในการเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีการปฏิวัติรัสเซีย ในแวดวงวิชาการตะวันตกมีหนังสือ บทความ และ
จุลสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ออกมาไม่ขาดระยะตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. ๒๐๑๖ งานวิชาการที่โดดเด่นคือการเสนอบทความและการบรรยายจากมุมมองของเหล่าปัญญาชนลัทธิมากซ์ที่มีชื่อเสียงใน World Socialist Web Site ที่เริ่มเสนอตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. ๒๐๑๗ ต่อเนื่องจนถึงปลายปี ซึ่งผู้สนใจสามารถรับฟังและติดตามได้ บทบรรยายดังกล่าวนำมารวมพิมพ์เป็นเล่มในชื่อ Why Study the Russian Revolution Centeninal Lectures of the International Committee of the Fourth International (2017) รวมทั้งมีการจัดทำภาพยนตร์เรื่อง Tsar to Lenin โดยนำภาพยนตร์เก่าที่หายากในหอจดหมายเหตุมาตัดต่อเรียงร้อยบอกเล่าความเป็นมาของรัสเซียในสมัยซาร์จนถึงการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ และการบุกเบิกสร้างประเทศบนเส้นทางสังคมนิยม

นอกจากงานของกลุ่มสากลที่ ๔ ในเว็บไซต์แล้ว มีการนำงานคลาสสิกเกี่ยวกับการปฏิวัติรัสเซียมาพิมพ์ใหม่อีกหลายเล่ม เป็นต้นว่า Leon Trotsky, The History of the Russian Revolution, John Reed Ten Days that shook the World และ Orlando Figes, A People’s Tragedy : The Russian Revolution : 1891–1924  ซึ่งในบทนำของหนังสือมีการวิเคราะห์สรุปความสำคัญของการปฏิวัติรัสเซียและการเสนอความคิดว่าทำไมยังต้องศึกษาประวัติศาสตร์รัสเซีย การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเมื่อ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมายังคงมีความเกี่ยวโยงกับสังคมปัจจุบันอย่างไร และอื่น ๆ

มีงานวิชาการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอีกมากเล่มที่นำเสนอการตีความประวัติศาสตร์การปฏิวัติโดยใช้เอกสารและข้อมูลใหม่ ๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้นในการสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับประวัติรัสเซีย งานที่น่าสนใจมี Sean McMeekin, The Russian Revolution A New History (2017) ซึ่งวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การปฏิวัติจากมุมมองของสงครามและกองทัพรวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งในแนวหน้าและแนวหลัง เน้นความสัมพันธ์ระหว่างโซเวียตกับเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ แต่สามารถสานสัมพันธ์กันได้จนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญา ค.ศ. ๑๙๑๘ และ ค.ศ. ๑๙๒๒ งานของ Catherine Merridal, Lenin on the Train (2016) บอกเล่าเรื่องราวที่มีสีสันของการเดินทางโดยรถไฟตู้ขบวนปิด ซึ่งเป็นตู้พิเศษที่เยอรมนีจัดให้เลนินและแกนนำบอลเชวิคอีก ๑๘ คน เพื่อเดินทางกลับเข้ารัสเซียผ่านเยอรมนี สวีเดน และฟินแลน์ เหล่านักปฏิวัติทั้งกลุ่มคืออาวุธเชื้อโรคที่เยอรมนีส่งเข้าไประบาดในรัสเซีย และส่งผลให้รัสเซียก้าวผ่านจากการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนสู่การปฏิวัติสังคมนิยมได้ เป็นการเปิดมุมมองในประเด็นความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มนักปฏิวัติ และความคาดหวังของพวกเขาที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ในช่วงท้ายมีการให้ภาพคู่ขนานเรื่องราวของซาร์นิโคลัสที่ ๒ เสด็จจากแนวหน้าประทับรถไฟพระที่นั่งกลับไปกรุง
เปโตรกราดในฐานะนักโทษ พระองค์ได้ปิดฉากรัสเซียเก่าในสมัยซาร์ แต่เลนินได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของรัสเซียสมัยสังคมนิยม ส่วน Lenin the Dictator An Intimate Portrait (2010) งานของ Vietor Sehestyen นักวิชาการอิสระชาวฮังการีที่ฝากชื่อไว้ในงานคลาสสิกของเขาเรื่อง Revolution 1989 the Fall of the Soviet Empire นำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของเลนินอีกมุมมองโดยชี้แนะว่าเลนินเป็นคนอำมหิต คับแคบทางความคิดและวางรากฐานของยุคสมัยน่าสะพรึงกลัวที่มีตำรวจลับเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ และการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๗ คือการทำรัฐประหาร หนังสือที่นำมาเป็นเพียงตัวอย่างข้างต้นคือการเปิดตัวของการเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีการปฏิวัติรัสเซียในแวดวงวิชาการ ชัยชนะของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ค.ศ. ๒๐๑๗ จึงเป็นปีที่หวนคิดว่าการปฏิวัติที่ผ่านมาได้ให้บทเรียนอะไรบ้าง และยังมีอะไรที่ต้องทำกันอีกเพื่อสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคตามแนวทางของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๗.