รศ.วนิดา  ขำเขียว

ภาคีสมาชิก ประเภทวิชาปรัชญา สาขาวิชาอภิปรัชญาและญาณวิทยา

 เสนอต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา

วันพุธที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐

ญาณวิทยาบนรากฐานปฏิบัตินิยมของวิลเลียม เจมส์

(Epistemology Founded on William James’ Pragmatism)

 

บทนำ

วิลเลียม เจมส์ (William James)หรือ เจมส์(James)เป็นนักปรัชญาคนสำคัญในกลุ่ม 3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งปฏิบัตินิยม (Pragmatism)ซึ่งมี ชาลส์ แซนเดอร์ส เพิร์ส (Charles Sanders Peirce) วิลเลียม เจมส์ และจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) เจมส์จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกแนวคิดปฏิบัตินิยม ซึ่งมีอิทธิพลต่อปรัชญาและจิตวิทยาในศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้เจมส์ยังเป็นบุคคลที่อาจเรียกได้ว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาเชิงประสบการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา  ด้วยความที่เจมส์เป็นทั้งนักปรัชญาและนักจิตวิทยาที่เห็นคุณค่าของการทดลองและการปฏิบัติในการค้นหาความเป็นจริงด้วยตนเองนี้ ท่านจึงเชื่อว่าท่านพบแล้วซึ่งความรู้หรือญาณวิทยาที่จะช่วยให้มนุษย์พบกับความเป็นจริงและสามารถนำพามนุษย์ไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างมากมาย

 

ภูมิหลัง

          วิลเลียม เจมส์ เกิดที่เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1842   บิดาชื่อ เฮนรี่ เจมส์ (Henry James) และมารดาชื่อ แมรี วอล์ช เจมส์ (Mary Walsh James) บิดาเป็นสาธุคุณในคริสตศาสนาที่มีชื่อเสียงในด้านวรรณกรรมและมีความสนิทสนมกับคนดังทางด้านวรรณกรรมของอเมริกาคือ ราฟ วอลโด อีเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) เจมส์เป็นลูกคนโตของตระกูล  น้องชายของท่านคือ เฮนรี่ เจมส์ ซึ่งมีชื่อเหมือนกับบิดา เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของอเมริกาและโด่งดังเท่ากับเจมส์ ในวัยเด็กเจมส์นั้นได้รับการสนับสนุนจากบิดาให้ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ท่านจึงไม่มีโอกาสศึกษาเหมือนกับเด็กอื่น ๆ ที่ต้องเรียนในโรงเรียน เพราะต้องท่องเที่ยวไปกับบิดาตามประเทศต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกาเป็นเวลา 2 ปี 5 เดือน แต่กระนั้นบิดาก็ยังหาโอกาสให้ท่านได้รับการศึกษาเป็นส่วนตัวกับบิดาบ้างและศึกษากับอาจารย์ของแต่ละประเทศ  ซึ่งมีทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิส และเยอรมัน จากนั้นเจมส์ได้ไปศึกษาที่ Lawrence Scientific School ที่ฮาร์วาร์ด (Harvard) และต่อมาได้ศึกษาทางด้านการแพทย์ที่
ฮาร์วาร์ดด้วย ตลอดเวลาที่เจมส์ศึกษานั้นท่านต้องเจ็บป่วยอย่างมากหลายครั้ง แต่กระนั้นท่านก็พยายามศึกษาจนสำเร็จ  การที่สุขภาพของท่านแย่ลงทุกวันทำให้ท่านไม่เชื่อเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ เพราะว่าไม่มีใครที่จะมีเสรีภาพในการเลือกไม่ให้ตนเองเจ็บป่วย  ท่านเกิดความกดดันในชีวิตอันเนื่องมาจากสุขภาพจนถึงขนาดเคยตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย[1]

ครั้นแล้วในปี ค.ศ. 1870 ท่านได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดของ ชาลส์ เรอนูวีเอร์ (Charles Renouvier) ซึ่งเป็นพวกคานต์ใหม่ (Neo-Kantian)ที่มามีอิทธิพลต่อความสนใจของท่านจนทำให้เกิดการเปลี่ยนใจที่จะศึกษาปรัชญาและท่านได้ค้นพบคำตอบของปัญหาในเรื่องเสรีภาพว่าความสมัครใจของเจตจำนงเสรีนี้แหละเป็นตัวที่จะทำให้เราสัญญากับตัวเองที่จะเชื่อในเสรีภาพของตนทั้งๆที่สภาพร่างกายบกพร่อง  ท่านได้เริ่มที่จะเรียกสติให้กลับคืนมาทั้ง ๆ ที่สภาพร่างกายไม่ดี เช่น มีอาการเกร็งที่ตา ปวดหลังอย่างแรงโดยไม่รู้สาเหตุ มีปัญหาในการย่อยอาหาร มีอาการเหนื่อยล้า อารมณ์ไม่คงตัว ยิ่งกว่านั้นท่านยังไม่มีอาชีพอะไรที่เป็นหลักแหล่ง[2]

ครั้นในปี ค.ศ. 1872 อาจารย์ผู้ซึ่งเคยสอนเคมีท่านได้เลื่อนตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เสนองานสอนวิชาสรีรศาสตร์แก่ท่าน ท่านยินดีรับงานและเริ่มต้นอาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ต่อมาเจมส์ได้เปลี่ยนมาสอนจิตวิทยาและได้สร้างห้องแล็บทางด้านจิตวิทยาเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ท่านได้พบกับครูสาวของโรงเรียนเอกชนในเมืองบอสตัน (Boston) เธอมีชื่อว่า อลิส โฮว์ กิบเบนส์ (Alice Howe Gibbens) ทั้งสองได้สมรสกันในปี ค.ศ. 1878 และมีบุตรด้วยกัน 5 คน ครอบครัวของท่านมีความอบอุ่นและมีความสุขโดยที่ภรรยาของท่านดูแลใส่ใจในสุขภาพของท่านเป็นอย่างดีและท่านเองก็มีความสุขกับการสอนหนังสือ ต่อมาท่านได้เปลี่ยนมาสอนทางด้านปรัชญาและได้เป็นสมาชิกของสโมสรอภิปรัชญา ท่านจึงได้รู้จักกับชาร์ลส์ แซนเดอร์ส เพิร์ส ซึ่งเป็นนักปรัชญาวิทยาศาสตร์และเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดปฏิบัตินิยม เพิร์สนี้เองที่เป็นผู้ประกาศหลักการสำคัญที่กรุยทางแนวคิดใหม่ทางปรัชญาคือการยอมรับวิทยาศาสตร์ว่ามีความใกล้ชิดกับปรัชญา และวิทยาศาสตร์ยังมีกระบวนการที่เข้าถึงปรัชญาได้ ด้วยแนวคิดนี้เองที่มีผลต่อเจมส์ในเวลาต่อมา ถึงแม้นว่าตอนนั้นเจมส์ยังไม่ใคร่เข้าใจเพิรส์มากนักแต่ท่านก็ชอบที่จะฟังเพิร์ส ทำให้ทั้งสองเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันมาก[3]

ต่อมาในปี ค.ศ. 1880 เจมส์ได้ตีพิมพ์ บทความเป็นครั้งแรกคือ “The Sentiment of Rationality”ซึ่งแสดงถึงการที่ท่านได้พัฒนาแนวคิดทางปรัชญาอย่างลุ่มลึก  ท่านได้เป็นศาสตราจารย์ทางปรัชญา ในปี ค.ศ. 1885 และเป็นศาสตราจารย์ในทางจิตวิทยาในปี ค.ศ. 1889  ต่อจากนั้นในปี ค.ศ. 1890  ท่านได้ตีพิมพ์ Principle of Psychology ซึ่งได้รับความสำเร็จเป็นอย่างสูง ในปี ค.ศ. 1897 เจมส์ได้ตีพิมพ์หนังสือปรัชญาเป็นเล่มแรกชื่อ “The Will to Believe and Other Essays in Popular Philosophy” โดยอุทิศให้แก่เพิร์ส ซึ่งเป็นบุคคลที่เจมส์ให้เกียรติและยกย่องมากจนถึงขนาดฟื้นฟูแนวคิดของเพิร์ส ทำให้เกิด “หลักการของเพิร์ส” (Peirce’s principle) ซึ่งเป็นตัวจุดประกายแนวคิดที่ทำให้เจมส์สร้างปรัชญาปฏิบัตินิยมตามแนวทางของตน  แต่กระนั้นท่านไม่เคยอวดอ้างเลยว่าตนเองเป็นคนคิดค้นขึ้นมาเอง และแม้แต่ชื่อ pragmatism ท่านก็อ้างว่าเป็นของเพิร์สหาใช่ของท่านเอง ซึ่งเพิร์สก็ปฏิเสธเพราะท่านรู้สึกว่าตนเองไม่ได้คิดอย่างที่เจมส์เข้าใจ จึงประกาศเปลี่ยนชื่อลัทธิของตนเป็น “pragmaticism”[4] ซึ่งศาสตราจารย์กีรติ  บุญเจือ ได้ให้คำแปลไว้ว่า “ลัทธิประติบัตินิยม”[5]

ต่อมาเจมส์ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (California University) ในหัวข้อ “Philosophical Conceptions and Practical Results” ซึ่งทำให้แนวคิดแบบปฏิบัตินิยมเป็นที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขวาง ช่วงที่ท่านทำงานที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนั้นท่านต้องเสี่ยงกับสุขภาพที่เปราะบางในช่วงที่ท่านกำลังฟื้นฟูสุขภาพท่านได้ศึกษาในเรื่องประสบการณ์ทางศาสนาและเตรียมที่จะไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh)ซึ่งทำให้เกิดผลงานที่ชื่อว่า “The Varieties of Religious Experience ” ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1902 ซึ่งเป็นปีที่ท่านประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและในช่วงเวลาของชีวิตที่เหลือเจมส์มุ่งพัฒนาแนวคิดทางปรัชญาด้วยการเขียนบทความ และเขียนบรรยาย โดยในปี ค.ศ. 1906 และปี ค.ศ. 1907 ท่านได้บรรยาย “Pragmatism” ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) และมหาวิทยาลัยโคลอมเบีย (Columbia University)  การบรรยายของท่านเป็นที่ชื่นชมของผู้ฟัง โดยเฉพาะการบรรยายที่มหาวิทยาลัยโคลอมเบียมีผู้คนมาฟังนับพัน การบรรยายในชั้นเรียนนั้นท่านจะกล่าวอยู่เสมอว่าวิธีการปฏิบัตินิยมนี้มีที่มาจากนักปรัชญาหลายท่าน คือ โสกราตีส (Socrates)  อาริสโตเติล (Aristotle) จอห์น ล็อก (John Locke)  ยอร์ช เบิร์กลีย์ (George Berkeley)  เดวิด ฮูม (David Hume) และ จอห์น สจวร์ต มิลล์ (John Stuart Mill) ด้วยเหตุนี้ท่านจึงขออุทิศผลงานให้กับนักปรัชญาเหล่านั้น[6]

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้จะเห็นได้ว่าเจมส์เป็นคนนอบน้อมถ่อมตน และไม่เคยอวดอ้างเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง นับว่าเป็นข้อดีของท่านที่ทำให้ผู้คนซึ่งสนใจในปรัชญาให้ความเคารพยกย่องท่านมาก และคนส่วนมากก็ยอมรับกันว่าแนวคิดปฏิบัตินิยมนี้มีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้กับท่านในฐานะเป็นขบวนการทางปรัชญาของอเมริกา ซึ่งชื่อเสียงและเกียรติยศนี้มิได้เป็นที่ยอมรับเฉพาะในอเมริกาเท่านั้น แม้ในทวีปยุโรปก็ล้วนมีผู้คนยอมรับความสามารถและแนวคิดของท่าน

ผลงานของเจมส์เป็นที่ยอมรับกันว่ามีแนวทางการเขียนที่ไม่ได้เป็นระบบตายตัว ท่านเขียนไปตามกระแสของการรับรู้ที่ไหลเรื่อย โดยไม่เคร่งครัดต่อกฎการเขียนหนังสือ ทำให้ผู้อ่านได้ทั้งสาระและความเพลิดเพลิน [7]

ต่อมาท่านได้ออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เพราะความกังวลว่าตนเองอาจจะตายก่อนที่จะทำให้ระบบปรัชญามีความสมบูรณ์ ท่านเป็นผู้ที่ยกย่องปรัชญามากถึงแม้นว่าจะศึกษามาจากสาขาทางการแพทย์และจิตวิทยา แต่กระนั้นท่านยอมรับว่าปรัชญามีสาระอันสำคัญยิ่งที่จะทำให้วิชาการอยู่รอดได้  ดังนั้นถึงแม้นว่าเจมส์จะได้รับความเจ็บปวดจากโรคคออักเสบ และลมหายใจเริ่มช้าลง แต่ท่านไม่ยอมหยุดที่จะไปบรรยายที่อังกฤษในปี ค.ศ. 1908 สิ่งที่ท่านบรรยายนี้ได้มีการตีพิมพ์ในปีต่อมาคือ “A Pluralistic Universe” หลังจากนั้นหัวใจของเจมส์ก็มีปัญหาแต่ท่านไม่ยอมหยุดพักยังคงเขียนตำราเรียนที่ชื่อว่า “Some Problems of Philosophy” และได้เสียชีวิตลงด้วยหัวใจล้มเหลวในขณะที่พยายามทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ  เจมส์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1910  รวมอายุได้ 68 ปี ที่ Chocorua รัฐ New Hampshire ต่อมาบุตรชายของท่านได้ตีพิมพ์ตำราเล่มนี้ในปี ค.ศ. 1911 และตีพิมพ์ Memories and Studies ด้วย  ในปี ค.ศ. 1912 มีการตีพิมพ์ Essays in Radical Empiricism ตามมาด้วย  และในปี ค.ศ. 1920 ตีพิมพ์ Collected Essays and Reviews และ The Letters of William James [8]

 

ผลงานสำคัญ

          ผลงานสำคัญของเจมส์ที่ได้ฝากไว้เป็นมรดกของมนุษยชาติมีดังนี้ คือ

  1. Principles of Psychology ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1890
  2. Psychology, Briefer Course ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1892
  3. The Will to Believe, and Other Essays in Popular Philosophy ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1897
  4. Human Immortality: Two Supposed Objections to the Doctrine ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1898
  5. Talks to Teachers on Psychology: and to Students on Some of Life’s Ideals ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1889
  6. The Varieties of Religious Experience: A Study in Human Nature ตีพิมพ์ ในปี ค.ศ. 1902
  7. Pragmatism: A New Name for Some Old Ways of Thinking ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1907
  8. The Meaning of Truth, A Sequel to “Pragmatism” ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1909
  9. A Pluralistic Universe: Hibbert Lectures on the Present Situation in Philosophy ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1909
  10. Some Problems of Philosophy: A Beginning of an Introduction to Philosophy ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1911
  11. Memories and Studies ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1911
  12. Essays in Radical Empiricism ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1912
  13. Collected Essays and Reviews ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1920 [9]

 

ผลงานของเจมส์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความรอบรู้ของท่านอันเป็นผลมาจากการศึกษาหาความรู้อย่างจริงจังและความอดทนต่อการค้นหาประสบการณ์ต่าง ๆ ทั้งในด้านการแพทย์และจิตวิทยา แต่กระนั้นท่านยังให้ความสนใจต่อไปอีกในด้านปรัชญาจนถึงแก่ทุ่มเททั้งชีวิตในการศึกษาอย่างจริงจัง  จนกระทั่งท่านได้พบแนวคิดปรัชญาโดยเฉพาะญาณวิทยานั้นเป็นที่ประจักษ์แจ้งถึงการให้ความสำคัญต่อการพิสูจน์ทดลองทำให้เกิดแนวคิดปฏิบัตินิยมตามแนวทางของท่านซึ่งสานต่อจากแนวคิดของเพิร์ส และปรับปรุงจนกระทั่งมีคุณูปการต่อวงการต่าง ๆ ทั้งในด้านปรัชญา จิตวิทยา การศึกษา การเมือง และวงการธุรกิจ

ปฏิบัตินิยมของเจมส์เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีประเด็นสำคัญที่น่าศึกษาดังนี้

  1. การปฏิวัติทางความคิดของวิลเลียม เจมส์ที่มีต่อญาณวิทยาตะวันตกสมัยใหม่
  2. ปฏิบัตินิยมในทัศนะของวิลเลียม เจมส์
  3. ความสำคัญของแนวคิดปฏิบัตินิยม

1.การปฏิวัติทางความคิดของวิลเลียม เจมส์ที่มีต่อญาณวิทยาตะวันตกสมัยใหม่

นับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงสมัยใหม่ของโลกตะวันตกได้เกิดการโต้แย้งกันมากมายในเรื่องความรู้ที่จะเข้าถึงความเป็นจริง ซึ่งทำให้นักปรัชญาสมัยใหม่จำแนกแนวคิดทาง  ญาณวิทยาออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเหตุผลนิยม (rationalism) และ 2. กลุ่มประสบการณ์นิยม (empiricism)

  1. กลุ่มเหตุผลนิยมนี้เป็นกลุ่มที่ยอมรับในความมีอยู่ของจิต และเชื่อว่ามีความรู้ที่เป็นอิสระจากประสบการณ์ เครื่องมือที่จะนำพามนุษย์เข้าถึงความเป็นจริงคือเหตุผล กลุ่มเหตุผลนิยมนี้เป็นกลุ่มที่เห็นความสำคัญของศาสนาและเชื่อในคุณค่าที่ตายตัว  นักปรัชญาในกลุ่มนี้ เช่น เรอเน เดส์การ์ต (Rene Descartes) บารุค สปีโนซา (Baruch Spinoza)  กอทท์ฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ (Gottfried Wilhelm Liebnitz)
  2. กลุ่มประสบการณ์นิยมเป็นกลุ่มที่ยอมรับว่าประสาทสัมผัสอันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของมนุษย์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดประสบการณ์ บ่อเกิดของความรู้มาจากประสบการณ์ ซึ่งเราสามารถไต่สวนหาความจริงได้ สิ่งที่มีอยู่เป็นสิ่งที่เราสามารถรับรู้และสัมผัสได้ สิ่งใดก็ตามที่พ้นจากประสาทสัมผัสรับรู้แล้วย่อมไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง  พวกประสบการณ์นิยมจึงเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมรับความสำคัญของศาสนาและไม่ยอมรับว่ามีคุณค่าที่ตายตัว  นักปรัชญาในกลุ่มนี้ เช่น จอห์น ล็อก  เดวิด ฮูม

ความแตกแยกทางความคิดนี้ทำให้อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาคนสำคัญของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ได้ศึกษาญาณวิทยาอย่างจริงจังและได้เสนอแนวคิดที่ว่าความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงได้ตราบใดที่พวกเขายังไม่รู้ถึงการทำงานของโครงสร้างสมอง  ท่านจึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทางญาณวิทยาของกลุ่มเหตุผลนิยมและกลุ่มประสบการณ์นิยม  โดยท่านได้อ้างหลักความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐานแห่งความเข้าใจของมนุษย์ ซึ่งทำให้เห็นว่าสิ่งที่มนุษย์คิดว่าตนค้นพบแล้วและเป็นคำตอบที่ถูกต้องนั้นล้วนแล้วแต่เป็นความจริงเท่าที่ปรากฏ (phenomena)  ตามนัยนี้หมายความว่ามนุษย์ไม่สามารถมีความรู้ในสิ่งที่พ้นไปจากโลกหรือสิ่งที่มีความเป็นจริงในตัวเองซึ่งคานต์เรียกว่า noumena แนวคิดของคานต์ในเรื่องนี้มีผลทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมาในภายหลังโดยเฉพาะเจมส์ซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ได้มีโอกาสศึกษาสมองของมนุษย์ประกอบกับการได้ศึกษาจิตวิทยาจึงทำให้เจมส์เกิดความสนใจในจิตของมนุษย์จนพบว่าจิตนั้นมีความสามารถในการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้และสามารถประเมินค่าของสิ่งต่าง ๆ ด้วย  เจมส์ไม่เห็นด้วยกับคานต์ที่ว่ามนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริง  ซึ่งในเรื่องนี้เจมส์คิดว่าความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าถึงได้ เพราะความเป็นจริงขึ้นอยู่กับจิตและมิได้มีอยู่อย่างเป็นอิสระจากจิต  การที่มนุษย์มีอารมณ์ มีความรู้สึก ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากจิตทั้งสิ้น เมื่อมนุษย์มีการรับรู้ จิตจะทำหน้าที่รับรู้ จัดระเบียบ กำหนดทิศทาง โดยมีประสบการณ์ซึ่งจิตรับรู้มาก่อนทำหน้าที่ตีความหมายและให้ค่านิยมแก่อารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้น  เจมส์ได้ยกตัวอย่างรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า 2 รูป ที่นำมาทับซ้อนกัน บางขณะ มนุษย์อาจจะเห็นเป็นรูปดวงดาว บางขณะก็เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม 2 รูปซ้อนกันอยู่ และบางขณะก็เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก 6 รูป โดยมีรูปหกเหลี่ยมอยู่ตรงกลาง

 

รูปภาพดังกล่าวนี้เทียบได้กับการรับรู้ของมนุษย์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีการแปลความหมายของแต่ละบุคคลก็จะตีความไปต่าง ๆ นานา[10]

ความเป็นจริงในทัศนะของเจมส์จึงขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลอันเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่มีความสำคัญสำหรับแต่ละบุคคลเพื่อการมีชีวิต และเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ซึ่งมนุษย์สามารถเข้าถึงได้ แต่กระนั้นความเป็นจริงมิได้มีเพียงหนึ่งเดียวและมิได้นิ่งอยู่กับที่หากแต่มีการเคลื่อนไป  เป็นอนิจจังและมีความหลากหลาย  ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์คือความสามารถในการใช้ประโยชน์จากความเป็นจริงที่เคลื่อนไปจนสามารถสร้างสรรค์
อารยธรรม   สมองที่ซับซ้อนของมนุษย์และอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนอย่างชนิดที่ไม่มีสัตว์ใดเทียบได้นั้น ทำให้มนุษย์อยู่เหนือสัตว์  ความสามารถของสัตว์เกิดจากสัญชาตญาณแต่ศักยภาพของมนุษย์เป็นผลมาจากจิต  ความเป็นจริงที่คนส่วนมากคิดว่าสูงส่งและลี้ลับจนยากที่จะเข้าใจนั้น สำหรับเจมส์แล้วความเป็นจริงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาโดยการที่จิตให้ความหมาย  เจมส์จึงเชื่อว่าไม่มีความเป็นจริงที่เป็นอิสระจากจิต  ดังนั้นธรรมชาติหรือแม้แต่ศิลปะที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจะไม่มีความหมายใด ๆ ในทางสุนทรียภาพเลยถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสิ่งที่แปลความหมายและให้คุณค่าแก่สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น คุณค่าทั้งหลายที่มนุษย์ส่วนใหญ่กล่าวถึงจึงมิได้เป็นอะไรมากไปกว่าผลพวงที่เกิดขึ้นมาจากการแปลความหมายของจิต  โลกนี้จึงมีความหลากหลายและมีความซับซ้อน มนุษย์ไม่สามารถที่จะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการเข้าถึงความเป็นจริง  แต่การที่มีบางสำนักหรือนักปรัชญาบางท่านให้ความสำคัญต่อเหตุผลหรือประสบการณ์หรืออัชฌัตติกญาณ (intuition) โดยท่านเหล่านั้นคิดว่าวิธีการของตนถูกต้อง ซึ่งเจมส์ไม่เห็นด้วย เพราะเจมส์เชื่อว่ามีวิธีการต่าง ๆ มากมายในการเข้าถึงความเป็นจริง เพราะความเป็นจริงมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ความเป็นจริงจึงเป็นสัมพัทธ์และแต่ละคนสามารถมองได้ในหลายแง่มุม  ดังนั้น ศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีความเป็นจริงที่ขึ้นกับมุมมองของ
แต่ละบุคคล[11]

สำหรับเจมส์แล้วปรัชญาเป็นศาสตร์ที่มองจากที่สูงเพื่อเห็นภาพรวมหรือเห็นส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับส่วนรวม ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่บรรยายสิ่งเดียวกับปรัชญานั่นคือเรื่องความเป็นจริง เพียงแต่มองต่างมุมกัน เจมส์คิดว่าศาสตร์ทุกศาสตร์ควรร่วมมือกันสร้างความเข้าใจในเรื่องความเป็นจริง และช่วยกันเอาประโยชน์จากความเป็นจริงนั้นมาส่งเสริมให้เกิดความเจริญแก่มนุษยชาติ[12]  ฉะนั้น ในการศึกษาจิตวิทยา เจมส์ได้อาศัยปรัชญาและวิทยาศาสตร์ในการค้นหาความเป็นจริง ซึ่งท่านเชื่อว่าจะสามารถเห็นมนุษย์ได้โดยรอบ[13]

การศึกษาทางด้านจิตนั้นเจมส์เริ่มศึกษาจากภายในคือสำรวจความคิดและความรู้สึกของตนแล้วอธิบายในสิ่งที่ตนค้นพบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจมส์ให้ความสำคัญต่อส่วนที่เป็นจิต ความสำนึกรู้ ความคิด และความรู้สึก[14] ด้วยเหตุนี้แนวคิดในเรื่องญาณวิทยาของเจมส์จึงต่างจากพวกประสบการณ์นิยมในอดีตตรงที่เจมส์ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการไต่สวนอย่างเดียวในการหาความเป็นจริงและท่านคิดว่ามนุษย์มิได้มีเพียงประสบการณ์ที่มาจากประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น  แต่มนุษย์ยังมีประสบการณ์ภายในที่ทำให้เกิดความรู้สึกได้โดยตรงเช่น ความรู้สึกในทางศาสนาและศีลธรรม  ความรู้สึกนึกคิด การจินตนาการในทางสุนทรียภาพ ความกลัว ความคาดหวัง  ด้วยเหตุนี้ เจมส์จึงประกาศตนเองว่าเป็นนักประสบการณ์นิยมอย่างถึงรากถึงโคนหรืออย่างเข้ม (radical empiricism) [15]

อย่างไรก็ตาม จิตในความหมายของเจมส์ไม่ใช่วิญญาณ แต่จิตเป็นสิ่งที่มีในสิ่งมีชีวิต และมีสมรรถภาพในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อม จิตอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และประสบการณ์ โดยเป็นกระแสต่อเนื่องของความสำนึกเมื่อเปรียบเทียบกับจิตของประสบการณ์นิยมแล้วจิตในปรัชญาของเจมส์มีคุณลักษณะคือ 1) ไม่ใช่ความสัมพันธ์กันของผัสสะย่อยแต่เป็นกระแสของการรับรู้ที่ไหลไปอย่างต่อเนื่อง  2) ไม่ใช่ tabula rasa ตามแนวคิดของล็อก (ซึ่งล็อกเชื่อว่าจิตของมนุษย์เหมือนกระดาษฉาบขี้ผึ้งที่รอการประทับ) แต่เป็นพลังดิ้นรนเพื่อความมีอยู่โดยกระทำการและคัดเลือกในเวลาเดียวกัน  3) ไม่ใช่ภาพเหมือนของความเป็นจริง แต่เป็นปฏิกิริยาต่อความเป็นจริง[16]

ด้วยเหตุนี้ เจมส์จึงอธิบายว่าความคิดมีคุณลักษณะสำคัญ 5 ประการ คือ

  1. ทุก ๆ ความคิดมีความโน้มเอียงที่จะเป็นการรับรู้ของบุคคลนั่นคือความคิดเป็นของเฉพาะบุคคล ความรู้จึงไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว
  2. ในการรับรู้ของแต่ละบุคคลนั้น ความคิดมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นั่นคือความคิดของแต่ละบุคคลไม่มีการหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่มีอัตตาที่นิ่งเฉยดูปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
  3. ในการรับรู้ของแต่ละบุคคลนั้น ความคิดมีความต่อเนื่องกันตลอดไปไม่ขาดสาย การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นไปตามลำดับ ทำให้ความคิดเป็นกระแสแห่งการรับรู้ การตื่นและการหลับแม้เป็นไปอย่างฉับพลันก็ไม่มีการขาดตอน
  4. ความคิดมักจะปรากฏขึ้นเมื่อไปเกี่ยวข้องกับวัตถุต่าง ๆ ดังนั้น ความคิดย่อมมีวัตถุประสงค์แห่งความรู้ นั่นคือความคิดทำหน้าที่รู้
  5. ความคิดของมนุษย์มักจะมุ่งไปยึดในบางส่วนของวัตถุจนถึงขนาดไปกันส่วนอื่น ๆ นั่นคือความคิดจะสนใจเลือกแง่ที่สนใจเท่านั้น เพราะความคิดมิอาจจับวัตถุหลายอย่างพร้อม ๆ กัน มนุษย์จึงไม่มีความเข้าใจที่สมบูรณ์แบบปรนัย[17]

ดังนั้น จิตในทัศนะของเจมส์คือความคิดและความคิดก็มีลักษณะเป็นสิ่งเฉพาะหน่วยที่ขึ้นอยู่กับคน
แต่ละคน ความคิดไม่มีสถานะที่นิ่งเฉยแต่เป็นกระแสความคิดที่ไหลต่อเนื่อง  เจมส์เรียกว่า stream of thought และบางครั้งก็เรียกว่ากระแสของการรับรู้ stream of consciousness[18]

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงปฏิเสธการให้คุณค่าอย่างสูงส่งแก่เหตุผลและปัญญาโดยท่านไม่ยอมรับว่าเหตุผลเป็นทางสายเอกในการเข้าถึงความเป็นจริงตามที่ชาวเหตุผลนิยมยกย่อง เพราะการคิดเช่นนี้จะทำให้เกิดความเชื่อที่ว่ามีความเป็นจริงแบบนิ่ง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงและปัญญาเป็นลักษณะประจำที่อยู่ในจิต  ท่านคิดว่าจิตมิใช่สิ่งที่อยู่นิ่ง ๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  ซึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้มนุษย์สามารถปรับตนให้เข้ากับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้  ดังนั้นปัญญาและเหตุผลมิใช่สิ่งที่มีอยู่แล้วในจิตก่อนมีประสบการณ์  แต่ปัญญาเป็นเพียงเครื่องมือของมนุษย์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติ[19]

เจมส์คิดว่าความรู้ทุกชนิดล้วนมีแหล่งกำเนิดมาจากประสบการณ์ซึ่งมีมากมายและหลากหลาย  ความรู้ที่มาจากประสบการณ์เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงและไม่มีความรู้ใดเลยที่คงที่ตายตัว  ความรู้แบบวัตถุวิสัยจึงไม่มีอยู่จริง  ความรู้ที่มีอยู่จริงคือความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ซึ่งไหลเป็นกระแสต่อเนื่องกันไป  เมื่อมนุษย์มีประสบการณ์พวกเขาสามารถพิสูจน์ทดลองจนสัมฤทธิ์ผล  ความรู้เช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และสามารถทำให้ชีวิตอยู่รอดได้[20]

  1. ปฏิบัตินิยมในทัศนะของวิลเลียม เจมส์

          เจมส์ได้อธิบายว่าปฏิบัตินิยมในภาษาอังกฤษใช้คำ pragmatism ซึ่งเป็นคำที่เพิร์สได้คิดคำนี้ขึ้นมาดังมีปรากฏอยู่ในบทความที่ชื่อว่า  How to Make Our Ideas Clear? โดยคำ pragmatism มาจากภาษากรีก  πρᾶγμα  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า pragma มีความหมายว่า action  เทียบเคียงได้กับ practice แปลว่า การลงมือปฏิบัติ และ practical แปลว่า ปฏิบัติได้จริง [21]

เจมส์ประทับใจกับแนวคิดของเพิร์สที่ว่าความเชื่อจะเป็นความจริงได้ต่อเมื่อนำมาใช้ปฏิบัติได้จริงโดยมีประสิทธิภาพเป็นตัวกำหนดความจริง  เจมส์ได้นำแนวคิดนี้ไปพัฒนาต่อยอดตามความเข้าใจของท่าน ดังปรากฏอยู่ในผลงานหลายเล่ม ซึ่งทำให้เห็นว่าเจมส์นั้นปฏิเสธความเป็นจริงสูงสุดที่มีเพียงหนึ่งเดียว เป็นนามธรรมและอยู่นอกเหนือความเข้าใจ เพราะท่านเชื่อว่าสิ่งที่เรียกว่าความเป็นจริงนั้นมีมากมาย และในความเป็นจริงทุกส่วนอยู่ในความสัมพันธ์กันโดยที่แต่ละส่วนยังเป็นส่วน ๆ อยู่จริง

แนวคิดปฏิบัตินิยมในทัศนะของเจมส์นี้มิได้เป็นระบบแต่เป็นวิธีการทางปรัชญาเพื่อจัดการกับปัญหาและข้อโต้แย้งต่าง ๆ ในทางอภิปรัชญา และเป็นวิธีที่พยายามจะค้นหาความเป็นจริงของแต่ละความคิดโดยการติดตามผลของการปฏิบัติ แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการทดลองและลงมือปฏิบัติ  ถ้าผลที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพก็ถือว่าเป็นความจริงที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักการหรือกฎในขณะนั้น ๆ ปฏิบัตินิยมในทัศนะของเจมส์ไม่สนใจในการใช้เหตุผลหาความเป็นจริงและไม่สนใจในหลักการหรือทฤษฏีที่ตายตัว ท่านเชื่อว่าแนวคิดที่ตายตัว ให้ความคิดที่แคบและเป็นระบบปิด ซึ่งต่างจากวิธีคิดแบบปฏิบัตินิยมที่เปิดกว้างให้มนุษย์ค้นหาความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา และความเป็นจริงในทัศนะของเจมส์ไม่ใช่จิตที่นิ่งเฉย และไม่ใช่ประสบการณ์ตามนัยของพวกประสบการณ์นิยมที่ยอมรับแค่ความรู้จากประสาทสัมผัส ซึ่งทำให้มีแนวโน้มไปในทางวัตถุนิยม  ด้วยเหตุนี้ เจมส์จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทั้งเหตุผลนิยมและประสบการณ์นิยม ท่านคิดว่าแนวคิดของทั้งสองฝ่ายนี้ทำให้มนุษย์ติดอยู่กับคำศัพท์และติดอยู่กับความคิดนามธรรมที่มืดบอด หาประโยชน์อื่นใดที่จะนำมาใช้ในชีวิตจริงไม่ได้เลย มนุษย์ควรอยู่ในโลกของความเป็นจริงเฉพาะหน้า และยอมรับกับข้อเท็จจริงและสามัญสำนึก[22]

เจมส์นำเสนอแนวคิดปฏิบัตินิยมด้วยการเริ่มต้นจำแนกคุณลักษณะของความแตกต่างกันระหว่างจิตทั้ง 2 ขั้ว คือ จิตละเอียดอ่อน (Tender-Minded) กับจิตแกร่ง (Tough-minded) โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันดังนี้

ลักษณะของจิตละเอียดอ่อน (Tender-Minded)

  1. ถือเหตุผล
  2. ถือพุทธิปัญญาว่าสำคัญ
  3. มีอุดมคติ
  4. เลื่อมใสในศาสนา
  5. เป็นพวกเจตจำนงเสรี
  6. ยึดถือเอกนิยม
  7. เป็นพวกยึดคำสอนโดยอาศัยศรัทธา

ลักษณะของจิตแกร่ง (Tough-Minded)

  1. เป็นนักประสบการณ์นิยม
  2. ถือเอาความรู้สึกเป็นใหญ่
  3. ถือวัตถุเป็นที่ตั้ง
  4. มองโลกในแง่ร้าย
  5. ดำเนินชีวิตไปตามชะตากรรม
  6. เป็นพหุนิยม
  7. เป็นพวกขี้สงสัย[23]

ลักษณะของจิตทั้ง 2 ขั้วตามที่กล่าวมาแล้วนี้เปรียบได้กับจิตที่มีแนวโน้มไปในทางศาสนาและจิตที่มีแนวโน้มไปทางวิทยาศาสตร์กับประสบการณ์นิยม ซึ่งเจมส์คิดว่า แนวคิดของทั้ง 2 ฝ่ายนี้มีลักษณะสุดขั้วคนละด้าน แต่กระนั้นก็มีส่วนดีที่มนุษย์สามารถดึงมาใช้ร่วมกันได้ ท่านจึงเสนอแนวคิดหรือวิธีคิดแบบปฏิบัตินิยม ซึ่งท่านคิดว่าเป็นแนวคิดที่อยู่ตรงกลางของทั้ง 2 ฝ่าย และท่านคิดว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีในการเลือกสิ่งที่จะทำให้เกิดการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น เพราะแนวคิดแบบปฏิบัตินิยมนี้เป็น meliorism กล่าวคือ เป็นกลุ่มแนวคิดแบบที่ไม่มองโลกในแง่ดี (optimism) และไม่มองโลกในแง่ร้าย (pessimism) แต่เป็นแนวคิดที่มุ่งปรับปรุงโลกให้ดีขึ้น[24]  ท่านคิดว่ามนุษย์ไม่อาจเป็นนักศาสนาหรือนักวิทยาศาสตร์เพียงด้านใดด้านหนึ่ง เพราะศาสตร์ทั้งหลายต่างมีความเป็นจริงทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของมนุษย์ว่าจะคัดสรรนำส่วนใดมาใช้  แนวคิดปฏิบัตินิยมมีความเป็นกลางซึ่งสามารถเป็นสะพานเชื่อมแนวคิดทั้งสองฝ่าย และสามารถแก้ปัญหาทางอภิปรัชญารวมไปถึงข้อโต้แย้งต่าง ๆ ในทางปรัชญาที่มีมานานแล้ว  ด้วยการพยายามที่จะเข้าใจความคิดต่าง ๆ แล้วโยงความคิดเหล่านั้นไปสู่การทดลองกระทำการ  และดูผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ กล่าวคือ ความคิดใด ๆ เมื่อมีการปฏิบัติแล้วและเกิดประสิทธิภาพในทางปฏิบัติจนเป็นผลดีที่น่าพอใจ ให้ถือว่าเป็นความจริง เจมส์เชื่อว่าแนวคิดแบบนี้เปิดกว้างและยืดหยุ่นทำให้มนุษย์สามารถเห็นความเป็นจริงใหม่ ๆ เพราะเหตุว่าความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยวิธีการหลากหลายในการแสวงหาความเป็นจริง  ดังนั้น มนุษย์ไม่ควรใช้เวลาอย่างมากมายจมอยู่กับคำศัพท์ และการค้นหาความหมาย แต่ควรมุ่งไปที่การกระทำซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์[25]  ญาณวิทยาของเจมส์จึงเน้นที่การทดลองปฏิบัติ แล้วดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่ามีประสิทธิภาพที่เป็นไปได้อย่างมากที่สุดอย่างไร ญาณวิทยาในแบบของเจมส์นี้ได้ทำให้เห็นว่าความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์อย่างเหลือล้นหรือเป็นอมตะ แต่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้จากการปฏิบัติ ท่านจึงไม่ยอมรับความรู้ที่ตายตัวแน่นอน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในญาณวิทยาของเจมส์ก็คือความมีประสิทธิภาพในการกระทำ[26]

ถึงแม้นว่าเจมส์ให้ความสำคัญกับวิธีการปฏิบัตินิยม แต่เป็นเรื่องน่าสนใจว่าเจมส์ให้ความสำคัญมากกับความเชื่อ[27] ทั้งนี้ เป็นเพราะท่านคิดว่าความเชื่อมีความสำคัญต่อแนวคิดปฏิบัตินิยมและเป็นหลักการที่แท้จริงของการกระทำ นั่นคือเราไม่สามารถกระทำการใดแบบขาดสมมติฐานอย่างน้อยที่สุดเราจะต้องเชื่อในสมมติฐานที่เพียงพอเพื่อจะได้นำไปทดลองจริงกับชีวิตหรือทดสอบข้อคิดเห็นต่าง ๆ นั้น การตัดสินใจของเราจึงมีพื้นฐานอยู่ที่ความเชื่อต่อสมมติฐานมิฉะนั้นแล้วเราจะไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรเลยหรือไม่ก็อาจเสแสร้งทำเป็นแน่ใจ และการที่เราจะเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ต่อเมื่อสิ่งนั้นมีประสิทธิภาพพอที่จะนำพาเราไปสู่โลกที่เปิดรับความคิดใหม่ ๆ ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ความเชื่อจึงเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มพูนในทางผลประโยชน์เมื่อเรากระทำสำเร็จตามความเชื่อนั้น ๆ อีกทั้งยังเป็นวิถีไปสู่การกระทำ  เจมส์จึงคิดว่าความเชื่อเป็นสิ่งจำเป็น  ถ้ามนุษย์ขาดความเชื่อแล้วเหตุผลก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ล้วนต้องการความเชื่อ[28]

ในเรื่องความเชื่อนี้เจมส์เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับเจตจำนงของมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ในทางเหตุผลแบบตรรกวิทยาว่ามันเป็นอิสระหรือเป็นนิยัตินิยม (determinism) แต่ในชีวิตจริงนั้นทุก ๆ คนต้องเผชิญกับการตัดสินใจทางศีลธรรม ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจเลือก เจมส์คิดว่าทุกคนมีเจตจำนงเสรีและเมื่อเวลาใดก็ตามที่มนุษย์พบกับทางเลือกและทำให้เกิดการตัดสินใจ ตรงจุดนี้จะทำให้เห็นว่ามนุษย์มีอิสรภาพที่จะเลือก  การเลือกก็ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ และการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อนั่นคือเจตจำนงที่จะเชื่อ (the will to believe) ซึ่งความเชื่อนั้นมิใช่สิ่งตายตัวแต่เป็นสิ่งที่ต้องทดสอบอยู่เสมอ[29]

จากการที่เจมส์ได้วิเคราะห์แนวคิดในเรื่องความเชื่อได้ทำให้ท่านนำไปประยุกต์กับศาสนา ซึ่งท่านคิดว่าความเชื่อทางศาสนาเป็นประสบการณ์ตรงของแต่ละบุคคล และเป็นความสนใจพิเศษที่ทำให้มีมุมมองแตกต่างกัน  ศาสนาจึงเป็นวิถีชีวิตของแต่ละบุคคลซึ่งเราไม่ควรที่จะใช้วิธีการพิสูจน์ความเชื่อทางศาสนาโดยอาศัยทฤษฎีหรือหลักการทางวิชาการ แต่ต้องสนใจและให้ความสำคัญต่อการกระทำที่เป็นประสบการณ์ศาสนาโดยตรง  ศาสนาเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติซึ่งจะทำให้มนุษย์ไม่มืดบอดและจมปลักอยู่กับการนิยามศัพท์หรือการตีความหมาย[30]

เจมส์ได้ให้ทัศนะในเรื่องศาสนาไว้ว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ควรให้สารัตถะเพียงหนึ่งเดียว  ศาสนามีหลากหลายเพราะเป็นความสำนึกรู้ของมนุษย์ซึ่งเจมส์เรียกศาสนาว่า “ศีลธรรม” ท่านคิดว่าคำว่า “ศาสนา” ควรนำไปใช้กับองค์กรของวัดหรือโบสถ์ที่ถูกจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ศาสนาหรือศีลธรรมในทัศนะของเจมส์ก็คือ ความรู้สึก การกระทำ และประสบการณ์พิเศษของแต่ละคนที่มีความสัมพันธ์กับอะไรก็ตามที่พวกเขาคิดว่าสูงสุดและประเสริฐสุดสำหรับพวกเขา ศาสนาในแง่นี้จึงเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์สามารถเผชิญหน้ากับชะตากรรม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อชีวิต[31]

เจมส์คิดว่าศาสนาถึงแม้นจะเป็นเรื่องของศรัทธาแต่ก็เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงของประสบการณ์ และประสบการณ์ทางศาสนานี้มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยการรับรู้แบบทั่ว ๆ ไป[32]  ความเชื่อทางศาสนาจึงต้องยกเว้นในเรื่องการทดสอบเนื่องจากไม่อาจทดสอบได้ ดังนั้น ความเชื่อทางศาสนาควรมีการค้นคว้าต่อไป[33]

  1. ความสำคัญของแนวคิดปฏิบัตินิยม

          แนวคิดปฏิบัตินิยมเป็นวิธีการคิดทางปรัชญาที่ปฏิวัติญาณวิทยาสมัยใหม่ คือเหตุผลนิยมและประสบการณ์นิยม โดยให้ความสำคัญต่อการหาข้อมูลจากสิ่งที่เป็นจริงซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความอยากรู้ อันจะนำไปสู่การกระทำที่ช่วยให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนั้นแนวคิดปฏิบัตินิยมจึงไม่ใคร่สนใจการเล่นคำและการใช้ความคิดหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่ให้ความสนใจต่อข้อเท็จจริง และสามัญสำนึกที่มีประโยชน์มิใช่เพียงแค่คำพูดและข้อคิดเห็นที่มิได้กระทำการพิสูจน์และทดลอง แนวคิดปฏิบัตินิยมในทัศนะของเจมส์ต้องอาศัยประสบการณ์และผ่านขบวนการต่าง ๆ ที่ทุกคนยอมรับ   ผลที่เกิดขึ้นจึงต้องมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติโดยเน้นปัจจุบันและให้ความสำคัญว่าควรปฏิบัติชีวิตอย่างไรเพื่อการดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและมีคุณค่า แนวคิดปฏิบัตินิยมจึงเป็นแนวคิดที่มีคุณค่าและมีความสำคัญดังนี้คือ

  1. ทำให้แนวคิดมนุษยนิยมได้รับการยอมรับมากขึ้น ตลอดจนทำให้มีผู้เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์และเห็นความสำคัญของประสบการณ์ภายนอกและภายใน มนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกสนใจตามความต้องการของตน และเกิดความเชื่อมั่นในตนเองที่จะกล้าคิดค้นสิ่งใหม่ๆตลอดเวลา
  2. ทำให้เห็นว่าความเป็นจริงมิได้มีเพียงหนึ่งหรือเป็นเอกภาพที่มีอำนาจ แต่เป็นพหุภาพ ความเป็นจริงมีลักษณะกระจายยิ่งกว่ารวมกลุ่มและทุกส่วนอยู่ในความสัมพันธ์โดยที่แต่ละส่วนยังเป็นส่วน ๆ อยู่จริง อุบัติการณ์ใหม่และเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้นบนโลกอย่างไม่ขาดสาย ความเป็นจริงจึงมองได้หลายแง่มุม มีความหลากหลายและรู้เท่าไร ๆ ก็ไม่จบสิ้น เพราะมนุษย์จะต้องพบสิ่งแปลกใหม่เรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
  3. ทำให้เห็นว่าไม่มีกฎเกณฑ์นิรันดร ไม่มีจุดหมายที่สูงส่ง ไม่มีญาณสอดส่องควบคุมความเป็นไปของโลกและจักรวาล กฎคือความเคยชินของเอกภพและเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

4.ทำให้เห็นว่าความเป็นจริงเป็นหน่วยย่อยที่เป็นไปตามยถากรรม มีพฤติกรรมร่วมกันซึ่งแสดงออกมาเป็นกฎธรรมชาติ หน่วยย่อยเหล่านี้มีความเป็นจริงมากกว่าตัวกฎ และหน่วยย่อยเหล่านี้มีปัจเจกภาพส่วนตัว

5.ทำให้เห็นว่าความเป็นจริงคือกระแสของความสำนึกรู้ที่ไหลอยู่ตลอดเวลา ความเป็นจริงจึงมีหลายแง่มุมตามที่สนใจ และแต่ละมุมมีความเป็นจริง

  1. ทำให้เห็นความสำคัญของการค้นคว้า การทดสอบ และการปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญต่อผลของการปฏิบัตินั่นคือประสิทธิภาพในทางปฏิบัติจะเป็นตัวตัดสิน และช่วยระงับปัญหาทางปรัชญาได้ในระดับหนึ่ง[34]

ความสำคัญของแนวคิดปฏิบัตินิยมตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดการทดลอง ค้นคว้า สิ่งแปลกใหม่จึงเกิดขึ้นในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านปรัชญา ศาสนา การศึกษา จิตวิทยา และสังคมศึกษา อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์เกิดความกระหาย อยากเรียนรู้ และทำให้มนุษย์ตระหนักในบทบาทและความสำคัญของตนเองที่มีต่อโลกและเอกภพ  แนวคิดปฏิบัตินิยมจึงมีอิทธิพลมากต่อวงการธุรกิจในสหรัฐอเมริกาโดยนำไปใช้ในการบริหารธุรกิจและเป็นปรัชญาการบริหารทุกระดับไปโดยปริยาย จึงเกิดการแข่งขันทางด้านประสิทธิภาพกันอย่างเข้มข้น[35]

 

สรุปและวิเคราะห์แนวคิดปฏิบัตินิยมของวิลเลียม เจมส์

แนวคิดปฏิบัตินิยมของเจมส์เป็นญาณวิทยาแบบทางสายกลางของวิธีคิดหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดแบบทางสายกลางที่จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับความคิดและอารมณ์ที่หลากหลายในโลก  เจมส์ได้เสนอวิธีคิดแบบปฏิบัตินิยมโดยไม่มีการจัดระบบในทางวิชาการ แต่ใช้วิธีการนำเสนอโดยเขียนบรรยายแบบไม่มีการวางแผน ไม่มีการวางเค้าโครงเรื่องตามหลักการเขียนงานในทางวิชาการ แต่ท่านเขียนแนวคิดไปตามกระแสของความคิดที่หลั่งไหลออกมาจากจิตสำนึกซึ่งคล้ายกับการเขียนงานนวนิยาย ผลงานของท่านมีมากมายและเป็นที่รู้จักกันดีในวงการปรัชญา อีกทั้งท่านยังได้รับการยกย่องว่ามีแนวคิดที่โดดเด่นในรูปแบบปรัชญาของชาวอเมริกัน  กุญแจสำคัญในแนวคิดปฏิบัตินิยมของเจมส์คือเรื่องความเป็นจริงซึ่งท่านคิดว่าสิ่งที่จะเป็นจริงได้นั้นไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด และไม่ใช่สิ่งที่อยู่นอกเหนืออายตนะของมนุษย์  สิ่งที่จะเป็นจริงได้ต้องเป็นสิ่งที่ให้คุณค่าในทางผลประโยชน์และให้ความพึงพอใจ อีกทั้งยังมีผลต่อความเชื่อของบุคคล  ความเป็นจริงเช่นนี้ย่อมไม่นิ่งอยู่กับที่แต่เคลื่อนไปหรือไหลไปโดยปรากฏตัวในสายธารของประสบการณ์ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา  ความเป็นจริงไม่ใช่เอกนิยมแต่เป็นพหุนิยมและถูกสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเพื่อนำไปสู่การใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์  ความเป็นจริงเช่นนี้จึงขึ้นอยู่กับปัจเจกบุคคลและเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่มีความสำคัญสำหรับบุคคลแต่ละคนเพื่อการมีชีวิต  ฉะนั้น ญาณวิทยาที่จะเข้าถึงความเป็นจริงนั้นไม่สามารถที่จะใช้วิธีใดวิธีหนึ่งแต่ต้องมีวิธีการต่าง ๆ มากมาย  ความรู้ที่มีอยู่จริงคือความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ซึ่งไหลเป็นกระแสต่อเนื่องกันไปซึ่งมนุษย์สามารถพิสูจน์และทดลองประสบการณ์ต่าง ๆ และเลือกสิ่งที่มีประสิทธิภาพเท่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์  ด้วยเหตุนี้ ญาณวิทยาของเจมส์จึงมีรากฐานมาจากปฏิบัตินิยมซึ่งท่านคิดว่าแนวคิดนี้สามารถจัดการได้กับปัญหาและข้อโต้แย้งต่าง ๆ ในทางปรัชญาเพราะเป็นวิธีที่พยายามค้นหาความเป็นจริงของแต่ละความคิดโดยใช้วิธีการทดลองและลงมือปฏิบัติตลอดจนติดตามผลของการปฏิบัติ ถ้าผลที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพก็ถือว่าเป็นความจริงที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักการได้ในขณะนั้น ๆ  ฉะนั้น แนวคิดปฏิบัตินิยมจึงไม่ให้ความสนใจต่อการเล่นคำและภาษา อีกทั้งไม่ต้องการให้ความคิดไปจมอยู่กับเรื่องนามธรรมเพราะท่านคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ และทำให้เสียเวลาในการโต้แย้ง ท่านจึงมุ่งไปที่การปฏิบัติและการกระทำ  ซึ่งในจุดนี้เราอาจกล่าวได้ว่าท่านยอมรับแนวคิดประสบการณ์นิยมและไม่เห็นด้วยกับพวกสัมบูรณ์นิยมแต่กระนั้นความเป็นประสบการณ์นิยมของท่านก็แตกต่างจากนักประสบการณ์นิยมในยุคก่อน ๆ เพราะท่านมิใช่เพียงแค่ยอมรับประสบการณ์จากโลกภายนอกเท่านั้น ท่านยังยอมรับประสบการณ์ภายในอันได้แก่ประสบการณ์ทางศาสนาและประสบการณ์ทางสุนทรียภาพโดยเฉพาะทางด้านศาสนานั้น  ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นมิใช่พิสูจน์กันด้วยทฤษฎีหรือหลักการใด ๆ แต่ต้องใช้การปฏิบัติทดลองหาความจริงด้วยตนเอง  ในแง่นี้ได้ทำให้เจมส์คิดว่าตัวท่านนั้นเป็นนักประสบการณ์นิยมแบบถึงรากถึงโคนหรืออย่างเข้มข้น  ซึ่งให้ความสนใจต่อข้อเท็จจริงและสามัญสำนึกตลอดจนให้ความสำคัญในการหาข้อมูลจากสิ่งที่เป็นจริงโดยการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติแล้วตามดูผลลัพธ์ว่ามีผลดีหรือไม่  ถ้าไม่เกิดประสิทธิภาพสิ่งนั้นไม่เป็นจริง  แต่ถ้ามีประสิทธิภาพก็ให้ถือว่าเป็นความจริงที่มีมูลค่าในทางเพิ่มพูนผลประโยชน์ที่นำความผาสุกและทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ถ้าเราพิจารณาในแง่นี้จะเห็นได้ว่าแนวคิดปฏิบัตินิยมของเจมส์คล้ายกับหลักกาลามสูตรในพระพุทธศาสนาในประเด็นที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติและไม่ให้เชื่อถือสิ่งใดที่ไม่เคยผ่านการพิสูจน์ และไม่เคยผ่านการปฏิบัติทดลองค้นหาความเป็นจริงด้วยตนเอง[36]  แนวคิดทั้งสองทางคือกาลามสูตรและปฏิบัตินิยมของเจมส์เป็นแนวคิดที่มีลักษณะให้ความสำคัญกับมนุษย์และยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งมนุษย์จะต้องรู้จักที่จะดำเนินชีวิตด้วยตนเอง  แต่มีความแตกต่างกันตรงที่พระพุทธศาสนามีเป้าหมายคือพระนิพพานซึ่งเป็นความจริงอันสูงสุดและเป็นเป้าหมายสุดท้าย  ส่วนความเป็นจริงของเจมส์ที่มาจากผลของการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย  สิ่งที่เป็นเป้าหมายในทัศนะของเจมส์เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความพอใจของแต่ละคน  อีกทั้งเป้าหมายในแง่นี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาไปตลอดเวลา  มนุษย์ในทัศนะของเจมส์จึงต้องกล้าเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ๆ โดยแก้ปัญหาเหล่านั้นไปตามสภาพที่เกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้ความเป็นจริงสมบูรณ์สูงสุดที่ตายตัวในทัศนะของเจมส์จึงไม่มี   มีแต่ความเป็นจริงที่ไม่นิ่งอยู่กับที่และสิ่งใดที่จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อการกระทำได้ลุล่วงแล้ว ดังเช่น รูปสลักดาวิด (David) ของไมเคิลแอนเจโล (Michaelangelo) นั้น เมื่อครั้งที่ยังเป็นก้อนหินอ่อนอยู่  แม้นไมเคิลแอนเจโลสามารถหยั่งเห็นรูปดาวิด ในก้อนหินนั้นก็ตาม แต่ตราบใดที่ท่านยังไม่ได้สลักออกมาเป็นตัวตนของดาวิดก็ไม่ถือว่าเป็นจริง  แต่จะเป็นจริงได้ต่อเมื่อมีการแกะสลักเป็นรูปดาวิดที่สมบูรณ์แล้ว  ดังนั้น มนุษย์ก็คือผู้สร้างความเป็นจริงขึ้นมาและความเป็นจริงนั้นก็มองได้หลายแง่มุมตามความสนใจ

ปฏิบัตินิยมจึงเป็นแนวคิดที่เปิดกว้างให้มนุษย์ค้นหาความเป็นจริงตลอดเวลาโดยไม่มีหลักความเชื่อที่ตายตัวและไม่มีสูตรสำเร็จ คุณค่าของวิธีคิดแบบปฏิบัตินิยมอยู่ที่ความสามารถในการแก้ปัญหาโดยให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น  ความคิดของมนุษย์จึงมีไว้เพื่อปฏิบัติตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบเพราะความคิดเปรียบเสมือนเครื่องมือนำพามนุษย์ไปสู่จุดหมาย  การทดสอบและการทดลองกระทำเพื่อดูผลที่เกิดขึ้นนั้น  เป็นเรื่องจำเป็นเพราะทำให้มนุษย์สามารถเผชิญกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงอันนำมาซึ่งการปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม มนุษย์นั้นมีเสรีภาพ  เจมส์เชื่อว่ามนุษย์สามารถเลือกสิ่งที่เป็นจริงตามความสนใจและวิธีคิดแบบปฏิบัตินิยมก็เป็นวิธีคิดที่ทำให้มนุษย์มีความเชื่อว่าตนเองมีเจตจำนงเสรีซึ่งความเชื่อนี้มีผลต่อการเลือก และมีผลดีที่นำพามนุษย์ไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้มนุษย์กล้าคิดค้นสิ่ง
ใหม่ ๆ ตลอดเวลา

ดังได้กล่าวมาแล้วนี้ได้ทำให้เห็นว่าแนวคิดปฏิบัตินิยมของเจมส์มีส่วนดีที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในสังคมปัจจุบันได้ที่สำคัญมีดังนี้

  1. การส่งเสริมปัจเจกชน ถึงแม้นว่าจะมีนักคิดหลายท่านเห็นว่าปฏิบัตินิยมเน้นความเป็นปัจเจกมากเกินไป แต่ในที่นี้เชื่อว่าการให้ความสำคัญต่อปัจเจกชนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในบุคคลและเป็นการส่งเสริมศักยภาพของบุคคลให้เกิดความกล้าในการคิดค้นสิ่งแปลกใหม่โดยถือเอาประสิทธิภาพในทางปฏิบัติเป็นมาตรการวัดความเป็นจริง นั่นคือสิ่งที่ผู้ปฏิบัติค้นพบนั้นต้องผ่านขบวนการต่าง ๆ ที่ทุกคนยอมรับ และผลที่เกิดขึ้นต้องมีคุณค่าในการเพิ่มพูนผลประโยชน์
  2. การยอมรับความคิดแบบพหุนิยม แนวคิดปฏิบัตินิยมเชื่อว่าความเป็นจริงมิได้มีเพียงหนึ่งแต่มีมากมายและเคลื่อนไปไม่หยุดนิ่ง แนวคิดเช่นนี้มีประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบันเพราะเป็นการเปิดกว้างยอมรับความเป็นจริงในแง่มุมต่าง ๆ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการสร้างสรรค์เพื่อความมีประสิทธิภาพของชีวิตอีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเสรีภาพให้เกิดขึ้น
  3. การส่งเสริมวิธีคิดแบบทางสายกลาง แนวคิดปฏิบัตินิยมไม่มีลักษณะที่สุดโต่งทางความคิดโดยการยอมรับขั้วความคิดเพียงด้านใดด้านหนึ่งซึ่งเป็นตัวปิดกั้นการพัฒนาของมนุษย์ แต่แนวคิดปฏิบัตินิยมเป็นแนวคิดแบบ meliorism คือให้อิสรภาพมนุษย์ในการเลือกสิ่งที่จะทำให้อนาคตดีขึ้นและตระหนักถึงความต้องการของมนุษย์ซึ่งเหมาะสมกับสังคมปัจจุบันที่ต้องการประนีประนอมทางความคิด
  4. การให้ความสำคัญในการปฏิบัติ แนวคิดปฏิบัตินิยมไม่มีหลักความเชื่อที่ตายตัวและไม่ได้ให้สูตรสำเร็จแก่โลกแต่ใช้วิธีการที่ได้มาจากข้อเท็จจริงที่ถูกค้นพบจากชีวิตในแต่ละวัน เพราะถือว่าไม่มีความเป็นจริงที่เป็นหนึ่ง แนวคิดปฏิบัตินิยมจึงให้ความสำคัญที่ผลลัพธ์โดยถือเอาประสิทธิภาพเป็นเครื่องวัดความเป็นจริงซึ่งเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันในการหาข้อมูล  ไม่ว่าจะเป็นในด้านปรัชญา ธุรกิจ การศึกษา การแพทย์ การเมือง การปกครอง การทหาร หรือแม้แต่ในด้านศาสนา
  5. การให้ความสำคัญกับความเชื่อ ความเชื่อมีความสำคัญต่อแนวคิดปฏิบัตินิยม เพราะก่อนที่จะมีการทดลองปฏิบัติอะไรนั้นจะต้องมีความเชื่อต่อสมมติฐานที่เพียงพอเพื่อจะนำไปทดลองจริงกับชีวิตหรือทดสอบข้อคิดเห็นต่าง ๆ การตัดสินใจจึงมีพื้นฐานอยู่ที่ความเชื่อต่อสมมติฐานนั้น ๆ มิฉะนั้นแล้วจะขาดความกล้าในการตัดสินใจ และการที่จะเชื่อสิ่งใดก็ต่อเมื่อสิ่งนั้น ๆ มีประสิทธิภาพพอที่จะนำไปสู่โลกที่เปิดรับความคิดใหม่ ๆ ถ้ามนุษย์ขาดความเชื่อแล้วเหตุผลก็เป็นไปไม่ได้ ในเรื่องความเชื่อนี้มีประโยชน์ต่อการทำงานในสังคมปัจจุบัน เพราะทำให้เกิดความมุ่งมั่น และเป็นพลังผลักดันที่จะทำให้เกิดความสำเร็จในการทำงาน

ดังได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าเจมส์เป็นผู้พยายามประนีประนอมแนวคิดทั้งฝ่ายประสบการณ์นิยมและเหตุผลนิยมโดยถือเอาการปฏิบัติเป็นหนทางไปสู่ความเป็นจริง  และใช้ประสิทธิภาพเป็นมาตรการตัดสินความจริง  ถึงแม้นว่าท่านจะเป็นนักประสบการณ์นิยมที่ให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์แต่ท่านก็ยอมรับในประสบการณ์บางอย่างที่ลึกเข้าไปถึงความคิดและความรู้สึก  ประสบการณ์ภายในเช่นนี้เป็นสิ่งที่นักประสบการณ์นิยมสมัยก่อนไม่ยอมรับ แต่เจมส์เปิดกว้างและทำให้ปรัชญาเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น  ท่านไม่เพียงแต่แสดงแนวคิดออกมาเป็นผลงานแต่ท่านยังปฏิบัติตามที่คิดโดยนำมาเป็นวิถีชีวิตซึ่งทำให้ท่านเป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นผู้มีศีลธรรมและมีความตรงไปตรงมา จึงนับได้ว่าท่านเป็นนักปรัชญาที่เป็นแบบอย่างที่ดีที่ใช้ชีวิตอย่างมีศีลธรรมและก่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเองและสังคม


 

บรรณานุกรม

ภาษาไทย

กีรติ  บุญเจือ. (2521). ปรัชญาเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช

กีรติ  บุญเจือ. (2522). ชุดพื้นฐานปรัชญา : แก่นปรัชญาปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช

กีรติ บุญเจือ. (2546). ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น ย้อนอ่านปรัชญากังขาของมนุษยชาติ (ช่วงวิจารณ์ระบบเครือข่าย) เล่ม 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น

กีรติ บุญเจือ. (2546). ปรัชญาประสาชาวบ้าน ชุดเซนต์จอห์นสอนปรัชญาภาษาง่าย เล่มต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น

พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม (กลางพนม). (2548). จิตในปรัชญาของวิลเลียม เจมส์. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พุทธศักราช 2539

—————–. พระสุตตันตปิฏก อังคุตตรนิกาย เอกก ทุก ติกนิบาต เล่มที่ 20. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

ภาษาอังกฤษ

Adler, Mortimer J. (1990). Great Book of The Western World. 53, p.288, Chicago: Henry Holt  and Company, Inc.

James, William. (nd). On a Certain Blindness in Human Beings. London: Penguin Books.

James, William. (1997). The Meaning of Truth. New York: Prometheus Books.

James, William. (1961). The Varieties of Religious Experience. New York: Mentor Books.

Mills, C. Wright. (1966). Sociology and Pragmatism. New York: Oxford University Press.

Misak, Cheryl. (2008). Handbook of American Philosophy. New York: Oxford University Press.

Perry, Ralph Barton. (1996). The Thought and Character of William James. Nashville: Vanderbilt University Press.

Stumpf, Samuel Enoch & Fieser, James. (2008) Philosophy: History and Problems. Boston: McGraw-Hill.

 

บทคัดย่อ

วิลเลียม เจมส์ (William James) หรือ เจมส์ (James) เป็นนักปรัชญาอเมริกันในช่วงศตวรรษที่ 20  ผู้ซึ่งปฏิวัติแนวคิดญาณวิทยาของตะวันตกสมัยใหม่โดยนำเสนอญาณวิทยาที่มีรากฐานมาจากปฏิบัตินิยม (pragmatism) ในแบบฉบับของท่านเองเพื่อจัดการกับปัญหาและข้อโต้แย้งต่าง ๆ ทางอภิปรัชญา  โดยให้ความสำคัญต่อการทดลองและการปฏิบัติในการค้นหาความเป็นจริงด้วยตนเอง ซึ่งท่านคิดว่าด้วยวิธีการที่ท่านค้นพบนี้จะสามารถช่วยให้มนุษย์พบกับความเป็นจริงและสามารถนำพามนุษย์ไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างมากมาย

 

Abstract

        William James or James was an American philosopher in the early 20th century. He revolutionized the modern western epistemology by presenting the epistemology based on pragmatism in his own thought pattern, to deal with metaphysical problem and arguments. He focused on experiments and practices by self-discovery. He thought that the way he discovered this could help people find the truth and could lead mankind to solve a lot of problems.

[1] C. Wright Mills. (1966). Sociology and Pragmatism. pp. 215-228.

[2] Ralph Barton Perry. (1996). The Thought and Character of William James. pp. 120-121.

[3] bid. pp. 280-293.

[4] C. Wright Mills. (1966). op.cit. pp. 223-224.

[5] กีรติ บุญเจือ. (2522). ชุดพื้นฐานปรัชญา แก่นปรัชญาปัจจุบัน. หน้า 79.

[6] Mortimer J. Adler. (1990). Great Book of The Western World. 53. p. vi.

[7] Ibid. p. 383.

[8] Cheryl Misak. (2008). Handbook of American Philosophy. p. 63.

[9] Ralph Barton Perry. (1996). op.cit. p. 390.

[10] Mortimer J. Adler. (1990). op.cit. p 288.

[11] William James. (1997). The Meaning of Truth. pp 61-76.

[12] กีรติ  บุญเจือ. (2522). เล่มเดิม. หน้า  87-89.

[13] Ralph Barton Perry. (1996). op.cit. p. 193.

[14] Mortimer J. Adler. (1990). op.cit. p xiv.

[15] William James. (1997). op.cit. p. 220.

[16] กีรติ บุญเจือ. (2546). ชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น ย้อนอ่านปรัชญา  กังขาของมนุษยชาติ (ช่วงวิจารณ์ระบบเครือข่าย). เล่ม 5. หน้า 197.

[17] Mortimer J. Adler. (1990). op.cit. 146.

[18] Ibid. p.155.

[19] กีรติ  บุญเจือ. (2521).  ปรัชญาเบื้องต้น. หน้า 290-301.

[20] พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม (กลางพนม). (2548). จิตในปรัชญาของวิลเลียม เจมส์. หน้า 10-12.

[21] William James. (nd). On a Certain Blindness in Human Beings. p. 68.

[22] Ibid. pp. 67-89.

[23] C. Wright Mills. (1966). op.cit. p.250.

[24] Ibid. pp. 250-252.

[25] Ibid. pp. 224-228.

[26] Samuel Enoch Stumpf & James Fieser. (2008). Philosophy: History and Problems. Pp. 376-377.

[27] William James. (nd). op.cit. p.68.

[28] Ralph Barton Perry. (1996). op.cit. pp. 254-263.

[29] Samuel Enoch Stumpf & James Fieser.  (2008). op. cit. pp.377-378.

[30] Wright Mills. (1966). op.cit. pp. 253-254.

[31] William James. (1961). The Varieties of Religious Experience. pp. 39-43.

[32] Ibid. p. 341 and 346.

[33] กีรติ บุญเจือ. (2522). เล่มเดิม. หน้า 53.

[34] กีรติ  บุญเจือ. (2522). เล่มเดิม. หน้า 186-187.

[35] กีรติ  บุญเจือ. (2546). ปรัชญาประสาชาวบ้าน ชุดเซนต์จอห์นสอนปรัชญาภาษาง่าย เล่มต้น. หน้า 205.

[36] องฺ ติก. (ไทย)  20/66/255-261.